Search Category / ค้นหา
โคพันธุ์เดร้าท์มาสเตอร์ - Droughtmaster Cattle

"ผู้พิชิตความแห้งแล้ง"
เป็นโคที่เลี้ยงได้ดีในทุกสภาพของประเทศไทยแม้แต่ในภาคอิสาณ
โคเดราท์มาสเตอร์ - Droughtmaster breed
ดร.สรรเพชญ โสภณ
คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร
เดราท์มาสเตอร์ - พันธุ์โคเนื้อของออสเตรเลีย เป็นคำใหม่ที่กลุ่มผู้เลี้ยงโคหัวก้าวหน้าในควีนส์แลนด์ตอนเหนือใช้เรียกโคลูกผสมระหว่างโคยุโรป(Bos taurus) กับ โคซีบู(Bos indicus) ที่สามารถทนทานกับสภาพแห้งแล้งในระหว่างปี เห็บโค ความร้อน eye cancer และปัญหาอื่นๆ ที่บั่นทอนการผลิตและผลกำไรของโคเนื้อ โคพันธุ์เดราท์มาสเตอร์เป็นที่รู้จักของคนไทยทั่วประเทศมานานแล้ว ในฉายาที่เรียกกันว่า “เดราท์มาสเตอร์- ผู้พิชิตความแห้งแล้ง” เพราะว่าเป็นโคที่เลี้ยงได้ดีในประเทศไทยในทุกสภาพของประเทศแม้แต่ในภาคอิสาณที่แห้งแล้งมากๆ
กำเนิดพันธุ์
นับแต่เกิดมีเห็บโคขึ้นในตอนเหนือของรัฐควีนส์แลนด์ ในปี ค.ศ. 1896 ทำให้การเลี้ยงโคเนื้อสายพันธุ์อังกฤษ เช่น ชอร์ตฮอร์น เฮอร์ฟอร์ด และเฮอร์ฟอร์ดผสมกับเดวอน ในสภาพแวดล้อมของเขตร้อน เป็นไปได้ยากลำบากยิ่งขึ้น ดังนั้นจึงเริ่มมีการทดลองผลิตโคลูกผสมกับโคซีบู โดยในปี ค.ศ. 1910 มีการนำเข้าพ่อโคซีบู 3 ตัว จากสวนสัตว์เมลเบอร์น เข้ามายังควีนส์แลนด์ และมีโคลูกผสมซีบูที่สามารถแทะเล็มในพื้นที่ตอนเหนือของควีนส์แลนด์ได้เป็นอย่างดี แม้จะเกิดความแห้งแล้ง มีความร้อน และมีเห็บ
ในปี ค.ศ. 1926 Mr. R.L. (Monty) Atkinson พบว่ามีลูกหลานของพ่อโคซีบู จากเมลเบอร์น สามารถผ่านช่วงเวลาที่แห้งแล้งมาได้ด้วยสภาพที่สมบูรณ์ จึงเกิดความประทับใจในลูกผสมเหล่านี้ และตั้งใจที่จะทำการพัฒนาพันธุ์ที่ทนทานต่อสภาพแห้งแล้งในเขตร้อนด้วยพ่อโคซีบู แต่ก็ยังคงสัดส่วนที่ยังคงได้ประโยชน์จากโคอังกฤษอยู่ ดังนั้นในระหว่างปี ค.ศ. 1930s จึงได้มีการนำเข้า โคบราห์มัน มาใช้ผสมพันธุ์ในควีนส์แลนด์ และ ต่อมา Monty Atkinson ได้ทดสอบการใช้พ่อโคสีแดงลูกครึ่งบราห์มัน ด้วยการให้คุมฝูงแม่พันธุ์ชอร์ตฮอร์น และลูกผสมชอร์ตฮอร์นกับเดวอน และคัดเลือกลูกเสี้ยวบราห์มันไว้ใช้เป็นฝูงผสมพันธุ์ และทำการคัดเลือกอย่างเข้มงวดในโปรแกรมปรับปรุงพันธุ์
ในระหว่างปี ค.ศ. 1940s Mr. Robert Rea แห่ง Kirknie, Home Hill ได้พัฒนาฝูง เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมในควีนส์แลนด์ โดยฝูงที่ Kirknie เริ่มต้นด้วยการใช้พ่อโคสีแดงลูกครึ่งบราห์มัน จาก St. Lawrence และใช้บราห์มันแท้จาก Wetherby Stud, Mt Molly และผู้เลี้ยงโคอื่นที่มีส่วนร่วมในการสร้างพันธุ์โคเดราท์มาสเตอร์ คือ Mr. Louis Fischer แห่ง Daintree ทางตอนเหนือของ คุ๊ก ทาวน์
การเริ่มต้นบุกเบิกของผู้เลี้ยงโคของออสเตรเลียที่กล่าวมานี้ ก่อให้เกิดการสร้างสรรค์ โคพันธุ์ใหม่ ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นการท้าทายอย่างสูง แต่เป็นการเขย่าวงการปรับปรุงพันธุ์โคแบบดั้งเดิม ที่เป็นอุตสาหกรรมแบบอนุรักษ์นิยม ซึ่งนักปรับปรุงพันธุ์รุ่นบุกเบิก ได้ปรับปรุง คัดทิ้งและคัดเลือกลูกโคที่เกิดจากการผสมระหว่างพันธุกรรมโคซีบู กับโคอังกฤษ ที่มีส่วนร่วมในโคพันธุ์เดราท์มาสเตอร์ อย่างระมัดระวัง จนได้โคเนื้อที่ ปรับตัวได้ดี มีความสมบูรณ์พันธุ์ และดูแลง่าย ที่ให้ประโยชน์อย่างมากมายในทุกส่วนของอุตสาหกรรมโคเนื้อ
ลักษณะประจำพันธุ์
โคเดราท์มาสเตอร์โดยทั่วไปจะมีสีแดง แต่จะมีความแปรปรวนอยู่บ้าง โดยจะมีสีทองน้ำผึ้ง ไปจนถึงสีแดงเข้มๆ อาจจะมีเขาหรือไม่มีก็ได้แต่ส่วนใหญ่จะไม่มีเขา มีหูขนาดกลางไปจนถึงขนาดใหญ่ และมีตระหนอกขนาดกลางๆ
โคเดราท์มาสเตอร์ เป็นโคขนาดกลางจนถึงใหญ่ ระยะการเจริญเต็มวัยปานกลาง มีความยาวลำตัวพอดี ผิวหนังเรียบเป็นมัน สมบูรณ์พันธุ์ คลอดลูกง่าย มีความสามารถเป็นแม่ที่ดีภายใต้สภาพแวดล้อมที่แห้งแล้ง มีเปอร์เซ็นต์ซากสูง ไม่ดุร้าย เลี้ยงบนทุ่งหญาได้ดี ทนทานต่อการเกิดท้องอืด
การปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมในเขตร้อนไดดีของโคเดราท์มาสเตอร์เนื่องมาจากคุณสมบัติดังต่อไปนี้
- ทนร้อน – เนื่องจากมีขนสั้นและผิวเรียบเป็นมัน มีต่อมเหงื่อขนาดใหญ่และมีจำนวนมาก มีบริเวณที่เป็นหนังไม่ติดกับตัวมาก และมีอัตราเผาผลาญพลังงานในร่างกายต่ำ และ
- ทนทานต่อพยาธิภายในและภายนอก – เนื่องจากมีสารเคมีในต่อมเหงื่อที่ทำให้เห็บและแมลงไม่ชอบ มีขนสั้นและเป็นมันทำให้เห็บและแมลงไม่เกาะ และมีภูมิต้านทานต่อทั้งพยาธิภายในและภายนอก
- มีระบบการย่อยอาหารที่มีประสิทธิภาพ – เพราะว่ามีกระเพาะแรกขนาดเล็ก มีอัตราการเผาผลาญอาหารต่ำ ทำให้มีความต้องการอาหารต่ำ นำสารอาหารกลับไปใช้ผ่านกระแสเลือด การดื่มน้ำน้อยลงทำให้ผลิตไนดตรเจนได้เพิ่มขึ้น การหมุนเวียนของโปรตีนเกิดในอัตราต่ำ ทำให้เกิดการพัฒนาได้ในระดับอาหารต่ำ
การเลี้ยงโคพันธุ์เดราท์มาสเตอร์ทั่วโลก
ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1970s ได้มีการส่งออกโคเดราท์มาสเตอร์ น้ำเชื้อ และเอ็มบริโอ ไปยังประเทศต่างๆในเอเซีย อัฟริกา ปาปัวนิวกินี ลาตินอเมริกา อเมริกาใต้ ตะวันออกกลางและหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิค
การเลี้ยงโคพันธุ์เดราท์มาสเตอร์ในประเทศไทย
การเลี้ยงโคพันธุ์เดราท์มาสเตอร์ในประเทศไทยเริ่มในปีพ.ศ. 2527 โดยกรมปศุสัตว์ ได้สั่งซื้อโคพันธุ์เดราท์มาสเตอร์ จากประเทศออสเตรเลีย ด้วยเงินยืมจากกองทุนเกษตรกร จำนวน 247 ตัว เป็นเพศผู้ 24 ตัวและเพศเมีย 223 ตัว นำมาเลี้ยงไว้ที่สถานีบำรุงพันธุ์สัตว์ทับกวาง จ.สระบุรี หลังจากนั้นอีก 4 ปี คือในปี พ.ศ. 2531มีเกษตรกรรายใหญ่ 2 ราย คือ ฟาร์มมานิสา อ.ลำนารายณ์ จ.ลพบุรี และ ฟาร์มไทรโยค ได้ดำเนินรอยตามโดยสั่งโคพันธุ์ เดราท์มาสเตอร์เข้ามาจำนวนมาก โคพันธุ์นี้มีสายเลือดโคเมืองหนาวอยู่ไม่เกิน 50% และมีเลือดโคบราห์มันอยู่ประมาณ 50% จึงสามารถเลี้ยงในเมืองไทยได้เป็นอย่างดี ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงนโยบายในการเลี้ยงโคเนื้อ กรมปศุสัตว์จึงได้จำหน่ายโคเหล่านี้ให้เกษตรกรเพื่อนำเงินคืนแก่กองทุนเกษตรกร และโคพันธุ์เดราท์มาสเตอร์ที่ศูนย์บำรุงพันธุ์สัตว์ทับกวาง ได้เลิกนโยบายส่งเสริมโคพันธุ์นี้ในที่สุด อีกทั้งเจ้าของฟาร์มไทรโยคได้ถึงแก่กรรม(พ.ศ. 2544) จึงเหลือฟาร์มใหญ่อยู่ฟาร์มเดียว คือฟาร์มมานิสา โคพันธุ์เดราท์มาสเตอร์ในประเทศไทยจึงมีอยู่จำนวนน้อย
อย่างไรก็ตามในทัศนะของผม โคพันธุ์เดราท์มาสเตอร์น่าจะเป็นพันธุ์โคเนื้อที่เหมาะสมกับบ้านเราอีกพันธุ์หนึ่ง จากลักษณะเด่นที่กล่าวมาแล้ว ก็น่าที่จะมีการพัฒนาพันธุ์และขยายพันธุ์กันอย่างจริงจังเพื่อให้สามารถผลิตให้เป็นโคที่เลี้ยงไว้เพื่อการบริโภคเนื้อได้จริงๆ แต่เนื่องจากว่าโคพันธุ์เดราท์มาสเตอร์ เป็นโคพันธุ์ผสม ดังนั้นจึงต้องมีความแปรปรวนของพันธุกรรมอยู่บ้าง ผู้ที่ต้องการพัฒนาพันธุ์ จึงต้องมีความเข้าใจในพันธุกรรมของโคที่มีอยู่ในครอบครองว่าเป็นโคที่ได้รับการพัฒนาพันธุ์มาถึงระดับไหนแล้ว ความเข้าใจในพื้นฐานของพันธุกรรมและการมีแผนงานพัฒนาพันธุ์อย่างชัดเจนจะช่วยให้มีการพัฒนาไปได้ย่างรวดเร็ว การนำเข้าพันธุกรรมใหม่จากต่างประเทศ จำเป็นต้องมีการคัดเลือกสายพันธุ์ที่จะช่วยทำให้พันธุกรรมในประเทศพัฒนาไปได้อย่างรวดเร็ว ด้วยเทคโนโลยีในการผลิตโคในปัจจุบันผมเชื่อว่าเราจะสามารถใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่ให้เหมาะสมกับการพัฒนาพันธุ์โคเดราท์มาสเตอร์ ให้เป็นโคเนื้อที่ผลิตเนื้อคุณภาพดี สำหรับการบริโภคภายในประเทศได้ในระยะเวลาที่ไม่นานเกินรอ
ปัจจุบันยังคงมีสมาคมโคเนื้อไทยพันธุ์เดราท์มาสเตอร์ ที่ทำหน้าที่ในการส่งเสริมและพัฒนาพันธุ์ เดราท์มาสเตอร์อยู่ ซึ่งผู้ที่สนใจในโคพันธุ์เดราท์มาสเตอร์ ติดต่อที่ คุณมานพ มาวิมล นายกสมาคมโคเนื้อไทยพันธุ์เดราท์มาสเตอร์ 339/1 หมู่ที่ 1 ต.ท่าดินดำ อ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรี 15130
Link ที่เกี่ยวข้องกับวัวพันธุ์เดราท์มาสเตอร์
http://www.australianlivestockgenetics.com.au/oz_droughtmaster.html
http://www.imbildroughtmaster.com.au/index.html
http://www.dunluce.com.au/bulls/sires.html
http://www.bernboroughdroughtmasters.com.au/index.html
http://www.spanndroughtmasters.com.au/
http://eversleighdroughtmasters.com/
http://www.dandglivestock.com.au/
http://jarrahcattle.com.au/droughtmaster.html