Search Category / ค้นหา
โคพันธุ์ไทยแบล็ก
โครงการพัฒนาพันธุ์โคเนื้อคุณภาพไทย-แบล็ค
การเลี้ยงโคเนื้อในประเทศไทยพัฒนาอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ทําให้ปัจจุบันประเทศไทยถือได้ว่าเป็นผู้นําด้านการผลิตโคเนื้อ เพราะมีสายพันธุ์ที่ดีมากมาย เช่น อเมริกัน บราห์มัน คุณภาพสายพันธุ์ไม่เป็นรองออสเตรเลีย นอกจากโคพันธุ์บราห์มันที่มีการพัฒนาทั้งภาครัฐและเอกชน ประเทศไทยยังมีโคเนื้ออีกหลายสายพันธุ์ ซึ่งเป็นโคเนื้อพันธุ์ดีที่สร้างขึ้นโดยคนไทย และผลิตออกมาเพื่อสนองตลาดและเพื่อระบบการเลี้ยงของไทยโดยเฉพาะ เช่น โคพันธุ์กําแพงแสน โคพันธุ์กบินทร์บุรี โคพันธุ์ตาก เมื่อรวมกับโคพันธุ์บราห์มันแล้ว ประเทศไทยมีโคพันธุ์แท้ที่มีคุณภาพอยู่ในเกณฑ์ดี อย่างไรก็ตามกรมปศุสัตว์ยังมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อยกระดับคุณภาพโคเนื้อให้ดีขึ้น และให้ผลตอบแทนแก่เกษตรกรมากขึ้น
ดังนั้นสํานักเทคโนโลยีชีวภาพการผลิตปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์ ได้มีโครงการสร้างโคเนื้อพันธุ์ใหม่ซึ่งมีคุณภาพเนื้อแตกต่างไปจากโคเนื้อที่มีอยู่ในปัจจุบัน และให้ผลการตอบแทนในการเลี้ยงที่ดีกว่า โคพันธุ์ดังกล่าวชื่อว่า โคพันธุ์ไทย-แบล็ค เกิดจากแนวความคิดที่ต้องการสร้างทางเลือกให้เกษตรกร รวมทั้งงานหลักของหน่วยงานคือการผลิตน้ําเชื้อและการผสมเทียมมีความคงที่ และการดําเนินงานเป็นไปได้ด้วยดี จึงสามารถสร้างนวัตกรรมใหม่ๆขึ้น โดยการระดมสมองของนักวิชาการของหน่วยงานทั้งหมดและมองเห็นช่องทางที่ยังไม่มีหน่วยงานใดทํามาก่อนนั่นคือการผลิตพันธุ์โคเนื้อที่มีคุณภาพเนื้อสูง คือมีไขมันแทรกเนื้อสูงเนื้อนุ่ม ทําสเต็กคุณภาพสูงได้ เลี้ยงง่ายภายใต้สภาพแวดล้อมของไทยและมีความสมบูรณ์พันธุ์สูง
จากการศึกษาสายพันธุ์โคหลายสายพันธุ์ทําให้ได้โคพันธุ์หลัก 2 สายพันธุ์ ที่มีความเหมาะสมและตรงเป้าหมายมากที่สุดคือ พันธุ์พื้นเมืองกับพันธุ์แองกัส พันธุ์แองกัสใช้เป็นพ่อพันธุ์ เนื่องจากมีข้อดีตรงตามความต้องการในการสร้างพันธุ์ คือเป็นโคขนาดกลาง ไม่มีเขา หนังและขนสีดํา หัวเล็กและยาวปานกลาง หัวด้านบนกว้าง จมูกกว้าง ลําตัวยาวและลึก เนื้อสันนอกซึ่งมีราคาแพงกว่าเนื้อส่วนหลังมีขนาดยาวและกว้าง ขาค่อนข้างสั้น กระดูกเล็ก พ่อโคหนัก 1,000-1,600 กิโลกรัม แม่โคหนัก 700-900 กิโลกรัม เป็นโคที่มีอัตราการโตเต็มวัยเร็วมากน้ําหนักแรกเกิด 30-33 กิโลกรัม แต่เนื่องจากไม่มีเขาและหัวเล็กทําให้คลอดง่าย และเนื้อมีคุณภาพสูงมีไขมันแทรกสูง เนื้อนุ่ม มีความสมบูรณ์พันธุ์สูงและผสมพันธุ์ได้เร็ว ประมาณ 12-15 เดือน นอกจากโตเร็วแล้วยังคลอดลูกตัวเล็ก ทําให้ไม่มีปัญหาในการผสมกับแม่พื้นเมืองของเกษตรกร ต่างกับการใช้พ่อพันธุ์ชาร์โรเล่ส์หรือซิมเมนทอล ซึ่งเป็นโคขนาดใหญ่มักมีปัญหาเรื่องการคลอด ในโครงการจึงเลือกใช้พ่อพันธุ์แองกัสเพราะคลอดง่าย และมีไขมันแทรกเนื้อสูง ส่วนแม่พันธุ์ใช้โคพื้นเมือง มีข้อดีคือเลี้ยงง่าย หากินเก่ง ไม่เลือกอาหาร การเจริญพันธุ์สูงและให้ลูกสม่ําเสมอเช่นเดียวกับพันธุ์แองกัส โคพื้นเมืองที่ใช้เป็นต้นแบบในช่วงแรกเป็นโคขาวลําพูนเนื่องจากเป็นโคพื้นเมืองของไทยที่มีโครงสร้างใหญ่
ด้านวิธีการในการสร้างพันธุ์เริ่มจากนําพ่อพันธุ์(น้ำเชื้อ)แองกัสพันธุ์แท้ ผสมกับแม่พันธุ์พื้นเมืองที่ผ่านการคัดเลือกสายพันธุ์ โดยดูลักษณะภายนอกเป็นหลัก เนื่องจากโคพื้นเมืองไม่มีการทําประวัติ ดังนั้นต้องคัดแม่พันธุ์ที่มีโครงสร้างลักษณะดีผสมกับน้ําเชื้อแองกัส เมื่อได้ลูกออกมาเป็นโคลูกผสมแองกัส 50% หรือใช้สัญลักษณ์ว่า F1 ลูกโครุ่นแรกนี้มีโคต้นแบบที่ทดลองเชือดแล้ว 1 ตัว แต่เป็นลูกที่เกิดจากแม่โคนม โดยเชือดเมื่ออายุครบ 24 เดือน น้ําหนักประมาณ 700 กิโลกรัม เป็นโคที่เลี้ยงแบบธรรมดาไม่ได้ขุนเต็มที่ ปรากฎว่าเนื้อที่ได้มีคุณภาพดีมากมีไขมันแทรกในระดับที่น่าพอใจ เนื้อนุ่ม รสชาติดี แต่ข้อมูลเหล่านี้ยังใช้ยืนยันทางวิชาการไม่ได้ ต้องเก็บข้อมูลจากโคจํานวนมากและหาค่าเฉลี่ย เบื้องต้นผลออกมาน่าพอใจ เพราะแค่ลูกผสมก็ให้ผลตอบสนองดีมาก เมื่อผ่านการคัดเลือกจนพันธุกรรมคงที่เป็นพันธุ์แท้ คุณภาพเนื้อน่าจะดีกว่า เมื่อได้ F1 แล้วจะมีการคัดเลือกเพื่อเก็บ F1 ไว้ทําแม่พันธุ์โดยใช้เครื่องมือที่ทันสมัยเช่น Genetic markers เพื่อคัดแม่พันธุ์ที่มีลักษณะเด่นตามความต้องการ ตัวใดไม่ผ่านการทดสอบจะนําไปทดลองขุนต่อไป
สําหรับตัวที่ผ่านการทดสอบจะนําแม่พันธุ์ F1 ผสมกับพ่อพันธุ์แองกัสอีกครั้ง ลูกที่ออกมาเรียกว่า F2 ( 75%แองกัส 25%พื้นเมือง) อีกรุ่นหนึ่งที่ต้องทดสอบคือ 62.5% แองกัส ที่เกิดจากพ่อพันธุ์ F2 ผสมกับแม่พันธุ์ F1 เพื่อทดสอบหาสายเลือดแองกัสที่เหมาะสมที่สุดจึงต้องทดสอบ 3 ระดับ คือ 50% 62.5% และ 75% เพราะที่ผ่านมายังไม่มีการทดลองหรือผลการทดสอบออกมา ดังนั้นทางสํานักเทคโนโลยีชีวภาพการผลิตปศุสัตว์ จึงจะทําการทดสอบจนทราบสายเลือดที่เหมาะสมก่อนจะผสมซ้ําๆจนกลายเป็นพันธุ์แท้ในที่สุด แต่ขณะนี้การดําเนินการโครงการอยู่ในขั้นตอนของการสร้าง F1 หรือลูกผสมแองกัสให้มากที่สุดเพื่อรองรับการพัฒนาสายพันธุ์ที่ดีต่อไปในอนาคตอันใกล้ การคัดเลือกและการทดสอบพันธุ์คงใช้เวลาไม่นาน เพราะอาศัยเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้าช่วย ซึ่งสามารถลดระยะเวลาในการสร้างพันธุ์ให้สั้นลง และมีความแม่นยําสูง ดังนั้นเชื่อว่าไม่กี่ปีจากนี้จะสามารถผลิตพ่อพันธุ์ไทยแบล็คพันธุ์แท้ต้นแบบออกมาได้ และผลิตน้ําเชื้อแจกจ่ายให้กับเกษตรกรต่อไป
สําหรับโค F1 (50% แองกัส) พบว่าไม่มีปัญหาในเรื่องการเลี้ยงดูแม้จะอยู่ภายใต้การเลี้ยงดูและการจัดการแบบชาวบ้านทั่วไป อย่างไรก็ตามการจัดการคุณภาพและเลี้ยงดูภายใต้โครงการจะเน้นให้มีการจัดการที่ได้มาตรฐานโคขุน ทั้งสภาพโรงเรือน ปริมาณและคุณภาพอาหาร ทั้งผู้เลี้ยงจึงต้องมีความรู้ความเข้าใจในการเลี้ยง จึงจะสามารถผลิตเนื้อได้ตามลักษณะของสายพันธุ์ ในอนาคตหากเกษตรกรต้องการเลี้ยงโคพันธุ์นี้จะต้องมีการอบรมก่อน ทั้งการเลี้ยงพ่อ-แม่พันธุ์ และโคขุนซึ่งต้องเลี้ยงต่างกัน ด้วยเหตุนี้ในช่วงแรกการส่งเสริมจึงอยากได้เครือข่ายที่เป็นกลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ หรือเกษตรกรที่มีความพร้อมในทุกๆด้าน โดยการเลือกพื้นที่ และดูศักยภาพของเกษตรกรก่อนการเลี้ยง(พันธุ์แท้) ขณะนี้ทางสํานักฯ ได้กระจายน้ําเชื้อพันธุ์แองกัสไปทั่วประเทศแล้ว แต่ยังมีจํานวนจํากัดทั้งนี้สํานักฯกําลังพยายามแก้ไขปัญหาโดยการนําเข้าพ่อพันธุ์ เพื่อผลิตน้ําเชื้อให้พอเพียงแก่ความต้องการ หากแต่มีข้อจํากัดด้านงบประมาณเนื่องจากเป็นงบที่แยกส่วนมาจากการผลิตน้ําเชื้อ ดังนั้นต้องหวังพึ่งรัฐบาลในการสนับสนุนโครงการอย่างต่อเนื่อง
ขณะนี้มีเกษตรกรจํานวนมากแสดงความสนใจเข้าร่วมโครงการ โดยเฉพาะสหกรณ์โคนมบ้านบึง และสหกรณ์โคนมชัยบาดาลมีเกษตรกรนําลูกผสมไปทดลองเลี้ยง บางฟาร์มเลี้ยงถึง 30 ตัว ทั้งนี้เพราะเกษตรกรเหล่านี้มีความพร้อมเนื่องจากเป็นเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมจึงมีความรู้ด้านการจัดการและการให้อาหารเป็นอย่างดี และหากไทยแบล็คให้ผลตอบแทนที่ดี คุ้มค่า เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม อาจขยายการผลิตโดยใช้แม่พันธุ์โคนม ผสมกับน้ําเชื้อแองกัส เพื่อผลิตโคขุนได้แต่ลูกออกมาไม่สามารถใช้ทําพันธุ์ได้ เพราะพันธุกรรมไม่เป็นตามวัตถุประสงค์ของโครงการ ด้านการตลาดทางสํานักฯได้ติดต่อกับภาคเอกชนเพื่อดูความเป็นไปได้ ซึ่งภาคเอกชนหลายบริษัทให้ความสนใจและยินดีรับซื้อจํานวนมากเพราะเป็นเนื้อที่มีคุณภาพสูง แต่ราคาถูกกว่าเนื้อนําเข้าจากต่างประเทศ ดังนั้นหากสามารถผลิตไทยแบล็คออกสู่ตลาดได้และเป็นเนื้อที่มีคุณภาพสม่ําเสมอ โคพันธุ์นี้น่าจะมีอนาคตเพราะตลาดเปิดกว้าง และคาดว่าราคาซื้อไม่น่าจะต่ํากว่า 60 บาทต่อกิโลกรัม
บทความโดย กลุ่มวิจัยและประเมินพันธุกรรมสัตว์ สํานักเทคโนโลยีเทคโนโลยีชีวภาพการผลิตปศุสัตว์
ที่มาข้อมูล www.dld.go.th/airc_urt/th/images/thaiblack.pdf