Search Category / ค้นหา
กอบกู้แปลงหญ้าอาถรรพ์ ตอน 2
โจทย์แรกของเราก็คือ ต้องพยายามใช้ของเก่าที่มีอยู่ให้ได้มากที่สุด ทั้ง ท่อพีวีซี ปั๊มน้ำ หัวสปริงเกิ้ลน้ำเหวี่ยง และ ซื้อของใหม่ให้น้อยที่สุดเท่าที่จำเป็นโดยใช้งบประมาณที่ต่ำที่สุด
เรื่องเล่าจากดงประดู่ กอบกู้แปลงหญ้าอาถรรพ์ ตอน 2
ไก่ ดงประดู่
อันดับแรกต้องขออภัยท่านผู้อ่านก่อนครับ ที่ฉบับที่แล้วคั่นการปลูกหญ้าพาไปชมแกะนอกนำเข้ามาเสีย 1 ตอน เนื่องจากเป็นข่าวเด่นที่น่าสนใจ ฉบับนี้จะนำท่านกลับมาสู่การกอบกู้แปลงหญ้าอาถรรพ์กันต่อ ถ้าท่านที่ยังไม่ได้อ่านที่มาของแปลงหญ้าอาถรรพ์ ก็สามารถเปิดย้อนกลับไปอ่านฉบับ ตีพิมพ์ใน เพื่อนชาววัว ฉบับที่ 87 ของเดือนสิงหาคม พ.ศ.2555 นะครับ
ว่าด้วยฮ้วงจุ้ยของแปลงหญ้า
มาดูพื้นที่ปลูกกันก่อนดีกว่า ด้านทิศเหนือ(ขวามือ) จรดแนวสะเดา วางแผนไว้ว่าจะทำถนนอีกเส้นถัดจากแนวสะเดา ด้านทิศใต้(ซ้ายมือ) จรดแนวต้นประดู่ป่า ด้านในมีแนวถนนเก่าอยู่แล้ว ด้านทิศตะวันออก(ด้านหน้า) มีแนวรั้วเลาะถนนเป็นแนวโค้งอยู่เดิมแล้ว ด้านทิศตะวันตก(ด้านหลัง) จรดแนวรั้วท้ายไร่ วางแผนจะทำถนนให้อ้อมไปชนกับเส้นต้นสะเดา ถ้าทำถนนครบก็จะมีถนนรอบแปลงหญ้าแปลงนี้ ซึ่งจะมีผลด้านความคล่องตัวที่สุดในการทำงาน
จากที่ทำงานกับแปลงหญ้ากลุ่มเนเปียร์ ( Napier Grass ) ที่โตสูงคล้ายอ้อยมานานหลายปี จึงเลือกวางแผนที่จะให้แปลงหญ้าทุกแปลงที่มี มีถนนตัดผ่านในระยะที่ไม่ห่างจนเกินไป ระยะห่างถนนที่สุดที่รับได้ก็คือไม่เกิน 50 ม. เพราะจะก่อให้เกิดความลำบากในการจัดการ และถ้าวางผังให้เดินได้ราวๆ 30 ม. จะเป็นระยะที่สะดวกที่สุดในการขนขี้วัวและปุ๋ยมาใส่แปลงหญ้า และ สะดวกในการหอบหญ้าที่ตัดขึ้นรถ (สำหรับการใช้แรงงานคนและเครื่องตัดหญ้าแบบสะพายนะครับ ถ้าฟาร์มไหนคิดจะใช้เครื่องจักรกลหนัก เช่นรถช๊อป เทรลเลอร์พ่วง ก็ต้องว่ากันอีกแบบไป)
ปัญหาการหอบหญ้าที่ตัดแล้วยังไม่เท่าไหร่ เพราะเมื่อตัดแล้วยังไงก็ต้องเก็บออกมาใช้ แต่ถ้าเป็นเรื่องของการขนปุ๋ยขี้วัวเอาไปใส่แปลงหญ้า เราก็อาจจะเจอปัญหาความไม่สม่ำเสมอ กอที่อยู่ใกล้ถนนก็จะได้ใส่ขี้วัวมากเต็มที่ แต่กอที่อยู่ไกลออกไปจากถนน ก็อาจจะได้รับการใส่ปุ๋ยขี้วัวน้อยกว่า หรือไม่ได้ใส่ เพราะคนขนขี้วัวเดินไม่ไหว ไหนจะทั้งร้อนทั้งฝุ่นแล้วยังต้องเดินไกลอีก ก็เลยใส่แต่กอใกล้ๆก็แล้วกัน
อีกสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งจะต้องพิจารณา คือเรื่องของแสง เพราะหญ้าจักรพรรดิ์และหญ้าตระกูลเนเปียร์(รวมถึงหญ้าอาหารสัตว์หลายๆชนิด)ล้วนต้องการแสงเหมือนการปลูกพืชอื่นๆทั้งนั้น ยิ่งเลือกวางแปลงให้ได้รับแดดตลอดทั้งวันได้ยิ่งดี แปลงนี้ ไม่มีต้นไม้ใหญ่ขวางแนวตะวัน น่าจะรับแดดได้ดี ยกเว้นบริเวณใกล้ๆแนวต้นไม้
แนวกันลมก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลย เพียงแต่อย่าให้บังแสงแปลงหญ้าเท่านั้น เพราะถ้าโล่งโจ้งไปหมด ไม่มีแนวต้นไม้กันลมบ้างเลย ก็อาจจะมีผลเสียในด้านของการสูญเสียความชื้น และอาจจะเสียหายได้ถ้ามีพายุลมแรง ดังนั้นการแนวต้นไม้ไว้บ้างเพื่อนเป็นแนวกันลมก็ย่อมจะดีกว่า อย่างน้อยที่สุดต้นไม้ที่ปลูกเป็นแนวกันลมก็สามารถใช้ซ่อมแซมคอกวัวได้ในยามจำเป็นอีกด้วย
คำนวนพื้นที่แปลงหญ้าเพื่อวางระบบน้ำ
แปลงหญ้าแปลงนี้มี ความกว้าง ความยาว ใกล้เคียงกัน ประมาณ 60 ม. x 60 ม. เทคนิคการวัดพื้นที่ก็ง่ายๆ ถ้าไม่มีเทปสายวัดยาวๆ ก็ไม่ต้องไปหาซื้อให้ยุ่งยากเปลืองเงิน ท่อPVCที่ใช้วางระบบน้ำนี่แหละความยาวมาตราฐาน เส้นละ 4 ม. วางทาบไปก็พอวัดคำนวนได้แล้ว ถ้ารวมทั้งถนนด้วย 60x60 ได้ 3600 ตร.ม. หารด้วย 1600 (1ไร่ มี 1600 ตร.ม. ) จะได้ประมาณ 2ไร่นิดหน่อย แต่ถ้าหักถนนซึ่งกว้างประมาณ 4 ม. ออกไปแล้ว ก็น่าจะหลือพื้นที่ปลูกหญ้าประมาณ 56x56 คือ 1.96 เกือบๆ 2ไร่
ท่อPVC อุปกรณ์วัดระยะแบบง่ายๆ
เนื่องจากปีนี้(ต้นปี พ.ศ.2555)แนวโน้มฝนค่อนข้างแล้งจัด ก่อนปลูกจึงต้องวางระบบน้ำให้เสร็จเสียก่อน โจทย์แรกของเราก็คือ ต้องพยายามใช้ของเก่าที่มีอยู่ให้ได้มากที่สุด ทั้ง ท่อพีวีซี ปั๊มน้ำ หัวสปริงเกิ้ลน้ำเหวี่ยง และ ซื้อของใหม่ให้น้อยที่สุดเท่าที่จำเป็นโดยใช้งบประมาณที่ต่ำที่สุด แต่ของที่ซื้อต้องได้คุณภาพเพื่อไม่ให้มีปัญหาเสียหายอย่างคราวก่อน
มาดูท่อPVCที่มีอยู่แล้วกันก่อน มีท่อประปาสีฟ้าหนา 8.5 เก่าเหมามากองอยู่ 1 กอง หลักๆเลยคือท่อ 3 นิ้ว ได้ใช้แน่นอนเพื่อเอามาทำท่อเมน (ตำราเรียก ท่อประธาน) เพราะปั๊มน้ำเป็นปั๊ม 3 นิ้ว 3 แรงม้า ใช้กันได้พอดีลงตัว ท่อที่เหลืออยู่จำนวนมากอีกขนาดก็คือ 1.2 นิ้ว (1นิ้ว 2หุน หรือ 1-1/4”) และท่อ 2 นิ้ว กับสายท่อPEอีกนิดหน่อย รวมถึงหัวสปริงเกิ้ลดำน้ำหยดอีกจำนวนหนึ่ง
ในความตั้งใจก็คือ จากบ่อพักน้ำที่อยู่ข้างๆบ่อบาดาล มาถึงแปลงหญ้าก็แค่มีถนนคั่น ดังนั้น เราเลือกวางปั๊มน้ำไว้ใกล้แหล่งน้ำที่สุดคือบนบ่อพักน้ำเลยซึ่งบ่อนี้อยู่หัวมุมทิศตะวันออกเฉียงเหนือ แล้ววางท่อ 3 นิ้ว จากปั๊มฝังลอดใต้ถนนวิ่งยาวขนาบข้างฝั่งทิศเหนือตลอดแนวเป็นท่อประธาน และมีท่อแยกจากท่อประธานไปยังฝั่งทิศใต้ โดยจะวางสปริงเกอร์ตามแนวท่อเหล่านี้ และท่อแยกทั้งหมดนี้ เราต้องการใช้ท่อ 1.2 นิ้ว เพราะยังมีเหลือใช้อยู่ในกองอีกมาก
การเปรียบเทียบราคา
ท่อและข้อต่อที่ใช้ มีหลายประเภท ถ้าสีฟ้าสำหรับน้ำดื่มน้ำใช้ สีเหลืองสำหรับงานร้อยสายไฟ สีเทาสำหรับการเกษตร และแน่นอนที่สีเทาย่อมถูกที่สุด แต่สำหรับการวางระบบครั้งนี้ ท่อหรือข้อต่อบางขนาดไม่มีสีเทาขาย แต่ก็จะมีท่อสีฟ้าหลายเกรดหลายคุณภาพมาให้เลือกแทน ซึ่งบางอย่างแม้ราคาถูกมากแต่ก็คุณภาพอาจจะไม่ผ่าน ควรเลือกยี่ห้อที่เชื่อถือได้
แต่เมื่อเริ่มหาซื้ออุปกรณ์เราก็พบว่าปัญหาใหญ่ของเราก็คือ ท่อ 1.2นิ้ว(1นิ้ว 2หุน หรือ 1-1/4”) ไม่มีการผลิตจำหน่ายข้อต่อสามทางลดหรือข้องอลดทั้งแบบสีฟ้าและสีเทาด้วย หาซื้อหลายที่ก็ไม่มี ในที่สุดก็ต้องเก็บท่อเก่าขนาด 1.2นิ้ว เอาไว้ใช้งานอื่นๆต่อไป แล้วไปหาซื้อท่อเกษตร 1นิ้วมาใช้แทน ที่เลือกท่อเกษตรเพราะ ท่อ 1นิ้วเกษตรสีเทา ราคาท่อนละ 45.60 บาท ท่อประปาสีฟ้าเกรด5 (กลาง) ราคาท่อนละ 70 บาท ท่อร้อยสายไฟสีเหลือง ราคาท่อนละ 104 บาท ราคาต่อชิ้นต่างกันอย่างมีนัยสำคัญเลยทีเดียว แปลงนี้เราจะต้องใช้จำนวนมากไม่ต่ำกว่า 100 เส้น ยิ่งเปรียบเทียบให้เห็นความต่างของต้นทุนได้ชัดเจนเลย นี่ยังไม่รวมถึงข้อต่อสามทางลด เกลียวนอก หัวสปริงเกอร์ ก็มีความต่างของราคาเช่นกัน
เทคนิคการตรวจสอบราคา
ไม่ใช่เฉพาะอุปกรณ์ระบบน้ำเท่านั้น แต่ควรเปรียบเทียบราคาทุกครั้งที่ซื้อของ ทั้งคุณภาพและราคา ไม่ว่าจะเป็นอาหารข้น แป๊บคอก อุปกรณ์ในฟาร์ม ฯลฯ วิธีที่ง่ายที่สุดเลยก็คือ แวะถามร้านแถวบ้าน 2-3 ร้าน หรือสอบถามจากพรรคพวกเพื่อนฝูง เพื่อเปรียบเทียบราคา แต่ให้พึงระลึกว่าถ้าถูกกว่านิดหน่อยแต่ต้องขับรถไปไกลถึงตลาด ก็อาจจะไม่คุ้มค่าน้ำมัน อีกเทคนิคที่ผมชอบใช้และง่ายที่สุดก็คือ ควรมีเบอร์โทรร้านเหล่านี้ไว้ที่ฟาร์ม แล้วโทรเช็คราคา สะดวกและประหยัดทั้งเงินและเวลา
ฉบับหน้า ยังมีเทคนิคเล็กๆน้อยๆมาเพิ่มเติมอีกครับ สิ่งเหล่านี้บางอย่างอาจไม่มีในตำรา เป็นเพียงประสบการณ์ตรงที่เกิดจากการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่ทว่าในการทำงานจริงเทคนิคเหล่านี้จะช่วยให้เราประหยัดไปได้พอสมควรเลยครับ พบกันใหม่ฉบับหน้าครับ
บทความนี้ถูกตีพิมพ์ใน นิตยสารเพื่อนชาววัว ฉบับที่ 89 เดือนตุลาคม พ.ศ.2555