Search Category / ค้นหา
กอบกู้แปลงหญ้าอาถรรพ์ ตอน 4

ดังนั้น ลูกน้องปลูกแล้วเจ้าของคอยกำกับดูแลอยู่เสมอ น่าจะเป็นหนทางที่เหมาะสมและได้งานมากกว่า
เช่นคำกล่าวที่ได้ยินบ่อยๆว่า “ทุกกิจการต้องการเงาของเจ้าของทาบผ่าน”
เรื่องเล่าจากดงประดู่ กอบกู้แปลงหญ้าอาถรรพ์ ตอน 4
ไก่ ดงประดู่
ฉบับก่อนๆ เราวางผังแปลงหญ้า ทำถนน ล้อมรั้ว วางระบบน้ำ การซื้ออุปกรณ์ท่อต่างๆ คำนวนแหล่งน้ำ รวมถึงสารพัดเทคนิคการปลูก เรียกว่าทฤษฏีแน่นและเตรียมตัวดีมาก รวมถึงเชิญผู้ชำนาญการมาให้คำแนะนำ แต่ก็ยังมีปัญหาปลูกแล้วตาย และตายไม่ใช่น้อยๆเสียด้วย เรียกว่าพลิกล๊อคเสียชื่อมืออาชีพกันเลยทีเดียว เดี๋ยวเราจะตามไปสืบสวนกันดูว่า อะไรเป็นสาเหตุการตายของแปลงหญ้าอาถรรพ์ชุดนี้
ปัญหาการตายของท่อนพันธุ์
เมื่อพบว่าหญ้าที่ปลูกไปแล้ว 1 เดือนประเมินจากจำนวนหลุมที่ไม่งอกมีอัตราการตายเกือบครึ่ง แต่สาเหตุการตายนั้นแค่ดูด้วยตายังไม่สามารถฟันธงได้ว่าเสียหายเพราะฝังลึกหรือขาดน้ำกันแน่ จึงทำการสำรวจดูอย่างละเอียดโดยทำการขุดตรวจสอบดูหลายหลุม เราจึงพบว่าสาเหตุหลักคือฝังลึกเกินไป ดูภาพเปรียบเทียบกับฝาปิดเลนส์กล้องแล้วจะเห็นว่าหลุมลึกมาก ถ้าสาเหตุเกิดจากน้ำไม่เพียงพอ ก็น่าจะตายสม่ำเสมอทั้งแปลงมากกว่านี้ เพราะว่าปีนี้สภาพอากาศแห้งแล้งมาก นอกจากนี้ยังมีที่เสียหายอีกจุดแต่เป็นส่วนน้อย ก็คือตรงมุมแปลงมีลูกรังถมถนนปนอยู่จำนวนมาก ทำให้ไม่งอกหรือบางหลุมงอกได้ก็ไม่งาม
สรุปว่าปัญหาหลักก็คือการขุดกลบฝังท่อนพันธุ์ลึกมากเกินไป ทำให้ไม่งอก แม้ว่าจะมีคนมาแนะนำวิธีการปลูก แม้ว่าจะบอกย้ำวิธีการปลูกอย่างชัดเจนแล้ว แต่ปัญหาเหล่านี้ก็อาจเกิดขึ้นได้ เพราะผู้ที่รับงานไปปฏิบัติอาจจะไม่เข้าใจหรือไม่ได้ทำตามที่เราบอกก็ได้
ทำการปลูกซ่อมใหม่เฉพาะหลุมที่ตาย
ต้นเดือนมิถุนายน วันที่ 9 ได้ทำการปลูกซ่อมแซมโดยผู้เขียนใช้เวลาช่วงเย็นจนถึงค่ำลงไปทำด้วยตัวเอง สาเหตุที่เลือกช่วงเวลานั้นก็เพราะแดดไม่ร้อน เทคนิคนี้เป็นการเลือกบริหารเวลา เพราะเจ้าของสามารถเลือกกำหนดเวลาทำงานช่วงที่แดดไม่ร้อนได้ กลางวันแดดแรงจัดก็ทำงานในคอกในร่ม หรือไปจับจ่ายซื้อของ หรือตรวจงานอื่นๆ พอแดดร่มลมตกจึงมาทำงานกลางแจ้ง ทำจนหมดแสงแล้วค่อยขึ้นมาอาบน้ำทานข้าว หรือบางทีทำงานติดพันจนดึกเพราะพระจันทร์สว่างก็เคย เพราะเรามีเวลามาดูแลฟาร์มแค่วันหยุดอาทิตย์ละ 2 วัน วิธีนี้ทำให้ผู้เขียนสามารถทำงานฟาร์มได้มากขึ้น
ช่วงเย็นจนมืดของวันนั้น ลำพังเพียงคนเดียวสามารถทำการปลูกซ่อมแซมไปได้ถึง 2 ร่องสปริงเกิ้ล (หญ้า 8 แถว) ด้วยวิธีการขุดหลุมวางนอนท่อนพันธุ์ลงไปแล้วกลบบางๆจนมิด ทานข้าวเสร็จตอนดึกก็ลงไปสูบน้ำรดให้อีก1รอบจนชุ่ม หมดเวลาวันหยุดสุดสัปดาห์ก็กลับมาทำงานที่กรุงเทพฯโดยให้คนงานซ่อมที่เหลือต่อจนครบทั้งแปลง แล้วก็ย้ำให้สูบน้ำรดสม่ำเสมอ เนื่องจากปีนี้หวังพึ่งอะไรกับฝนฟ้าไม่ได้เอาเสียเลย
ความอาถรรพ์ยังไม่หมด
ในเวลาต่อมาอีก 2 สัปดาห์ วันที่ 23 มิถุนายน 2555 เรากลับมาดูแปลงหญ้าอาถรรพ์นี้อีกครั้ง พบว่าหญ้าที่ซ่อมก็มีบางส่วนไม่งอกอีก ทั้งที่ท่อนพันธุ์ก็คัดมาอย่างดี รดน้ำก็บ่อย ฝนก็มีตกลงมาบ้างแล้ว แต่ก็ยังมีบางส่วนไม่งอกอีก และแปลกตรงที่ส่วนที่มีปัญหานี้อยู่ในบริเวณที่คนงานซ่อมทั้งหมด ส่วนที่เจ้าของปลูกเองกับมือรอดเกือบจะร้อยเปอร์เซนต์ ทำให้สงสัยว่าเรามีอาคมแก่กล้ากว่าหรืออย่างไร ถึงได้ข่มอาถรรพ์ลงได้
เมื่อเข้าไปเดินตรวจสอบดูอย่างละเอียดจึงพบว่า คนงานไม่ได้ขุดฝังนอนลงไปทั้งท่อนตามแบบที่เราทำ แต่กลับเลือกใช้วิธีง่ายๆที่นิยมกันก็คือปักเฉียง 45 องศา อาจเป็นเพราะเห็นว่าฝนตกลงมาบ้างแล้วและการเดินเสียบท่อนพันธุ์จะเร็วกว่าขุดฝังกลบทีละหลุม เรียกได้ว่าเป็นความมักง่ายในการทำงานหวังให้เสร็จเร็วๆ แต่คงลืมคิดไปว่าถ้าต้องมาซ่อมซ้ำอีกรอบก็ยิ่งยุ่งยากและเสียเวลา
การปักท่อนพันธุ์เฉียงลง 45 องศา ถ้าทำในช่วงที่ฝนชุกอากาศชื้นก็อาจจะรอดดี แต่ถ้าอากาศแห้งแล้งจัดเช่นปีนี้ที่ฝนไม่ค่อยดีนัก จะก่อให้เกิดปัญหาสูญเสียความชื้นในท่อนพันธุ์ได้ง่าย เพราะเสียน้ำระเหยออกไปจากปลายท่อนพันธุ์ที่เฉียงขึ้นมาโดนแดดเผา แล้วอีกปัญหาที่เราพบก็คือท่อนพันธุ์บางส่วนหลุดล้มจากการปักเฉียงลงมานอนแห้งตายอยู่บนผิวดิน เนื่องจากคนงานปักไว้ไม่ลึกและไม่แน่นพอ เมื่อรดน้ำจนดินนิ่มท่อนพันธุ์จึงหลุดล้มลงมานอนแห้งโดนแดดเผาและตายไปในที่สุด แล้วเราก็ต้องปลูกซ่อมแซมกันอีกครั้ง
สรุปได้ว่าความตั้งใจและใส่ใจในการปลูกต่างกันกับที่เราปลูกเองซึ่งรอดเกือบร้อยเปอร์เซนต์เลยทีเดียว ตรงนี้เป็นข้อคิดที่ดีว่า ถ้าเราบอกให้คนงานหรือลูกน้องทำโดยไม่ตรวจควบคุมดูแลเอง ก็อาจจะมีปัญหางานที่ได้ไม่ตรงตามที่มอบหมายไว้ให้ทำ อะไรก็ตามที่เจ้าของทำเองย่อมออกมาประณีตกว่าดีกว่า แต่เราก็ไม่สามารถจะทำเองไปเสียทุกอย่าง ดังนั้น ลูกน้องปลูกแล้วเจ้าของคอยกำกับดูแลอยู่เสมอ น่าจะเป็นหนทางที่เหมาะสมและได้งานมากกว่า เช่นคำกล่าวที่ได้ยินบ่อยๆว่า “ทุกกิจการต้องการเงาของเจ้าของทาบผ่าน”
ฝนเริ่มมาหญ้า(วัชพืช)ก็เริ่มงาม
ภาพที่ 1 เป็นภาพของหญ้าอายุ ราว 45 วันนับจากวันที่เริ่มปลูก(ถ่ายวันที่ 23 มิถุนายน 2555) ภายใต้สภาวะฝนแล้งแต่มีระบบน้ำช่วย จะเห็นได้ว่ามีวัชพืชขึ้นประปรายและหญ้ากอที่รอดดีตั้งแต่รอบแรกก็เติบโตสูงกว่าวัชพืชขึ้นมาอย่างเด่นชัด
ภาพที่ 2 ขณะถ่ายภาพนี้ หญ้าอายุราว 60 วันนับจากวันที่เริ่มปลูก(ถ่ายวันที่ 8 กรกฏาคม 2555) หลังจากฝนตกหนักและได้รับปุ๋ย(25-7-7)ไปแล้ว หญ้าจักรพรรดิ์ก็แสดงศักยภาพตอบสนองปุ๋ยโดยถีบตัวหนีวัชพืชที่ขึ้นอย่างหนาแน่นออกมาได้ บางท่านอาจจะถามว่าทำไมไม่ทำรุ่นกำจัดวัชพืช คำตอบก็คือขาดแรงงานมาคอยถากถางทีละหลุมนั่นเอง โชคดีที่หญ้าชุดแรกที่ปลูกถีบตัวหนีวัชพืชมาได้อย่างสวยงามตามที่เราวาดแผนเอาไว้ในใจ นั่นคือ เทคนิคการปลูกแบบไม่กำจัดวัชพืชเนื่องจากปัญหาแรงงานเป็นประเด็นสำคัญ
ภาพที่ 3 วันเดียวกัน หญ้าชุดที่ถูกปลูกซ่อมทีหลัง แม้จะได้รับน้ำฝนแต่วัชพืชนั้นได้โตนำหน้าไปก่อนแล้ว จึงจะเห็นว่าวัชพืชรุมล้อมหนาแน่นไปหมด
ภาพที่ 4 ผ่านไปอีก 20วัน หญ้าอายุราว 80 วัน(ถ่ายวันที่ 28 กรกฏาคม 2555) มีทั่งหญ้าชุดที่รอดอายุครบ 80 วัน และหญ้าทีถูกซ่อม อายุ 60 และ 40 วัน ตามลำดับความสูง จะเห็นได้ว่าหญ้าอายุน้อยที่มาปลูกซ่อมช่วงฝนชุก ที่เราอัดปุ๋ยเพื่อหนีวัชพืช ก็ยังจะมีวัชพืชโตตามติดมาตลอด
ภาพที่ 5 อายุ 80 วันเท่ากัน แต่เป็นบริเวณที่รอดดีตั้งแต่การปลูกคราวแรก เปรียบเทียบกับสปริงเกิ้ลที่มีความสูง 1 เมตร ให้เห็นการเติบโตและการให้ผลผลิตที่สูงของหญ้าจักรพรรดิ์
หลังจากเก็บภาพแล้ว เมื่อหญ้าอายุครบ 90 วัน เราก็ตัดทั้งหญ้าจักรพรรดิ์และหญ้าวัชพืชไปให้วัวกินทั้งหมดรวมถึงหญ้าจักรพรรดิ์ที่ปลูกซ่อมอายุน้อยกว่า ก็ตัดออกมาทั้งหมด จากนั้นก็ใส่ปุ๋ยและรดน้ำให้เพราะฝนปีนี้น้อยมากแม้จะเป็นช่วงกลางฤดูฝน เมื่อตัดกอใหญ่ที่โตสูงแล้วออก ก็จะหมดปัญหากอใหญ่บังกอเล็กที่ปลูกซ่อม เม็ดละอองน้ำจากสปริงเกิ้ลก็จะได้กระจายชุ่มทั่วแปลง รอบที่สองเราก็ใช้เทคนิคอัดปุ๋ยไนโตรเจนสูงเพื่อสู้วัชพืชเช่นเคย แม้ว่าวัชพืชจะโตเร็วแต่รอบนี้ก็ไม่ทันหญ้าจักรพรรดิ์ที่รอดและตั้งตัวได้แล้ว เพียงแต่ขนาดกอ(จำนวนต้นต่อกอ)ของพวกที่ปลูกซ่อมอาจจะยังไม่มากเท่ากับชุดแรกที่รอดอยู่
เราจึงสามารถตัดใช้หญ้าชุดนี้อีกครั้งใน 45 วันถัดมา ราวๆก่อนสิ้นเดือนกันยายน 2555 ช่วงนั้นฝนชุกดีพอสมควร เราใส่ปุ๋ยอีกครั้งหลังตัด และก็คงสามารถพูดได้เต็มปากว่าเราประสบความสำเร็จในการสร้างแปลงหญ้าแปลงนี้แล้ว แล้งนี้มีระบบน้ำให้ก็คงจะผ่านไปได้ตลอดรอดฝั่ง ถือได้ว่าล้างอาถรรพ์ของแปลงหญ้าอาถรรพ์ลงได้เสียที กว่าฉบับนี้จะตีพิมพ์ออกมา เราก็คงจะตัดใช้ครั้งที่ 3 ไปเรียบร้อยแล้ว รวมถึงคงได้ใส่ขี้วัวแห้งในช่วงหมดฝนเพื่อปรับปรุงโครงสร้างดินและทำให้อุ้มน้ำเก็บความชื้นได้มากขึ้นด้วย
หวังว่าชาววัวทุกท่านจะได้ประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อยจากการลองวางระบบน้ำและสร้างแปลงหญ้าของดงประดู่ฟาร์มด้วยตนเอง ถ้าเพื่อนๆมีขอสงสัยใดๆก็สามารถสอบถามหรือค้นหารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เวบไซต์ www.thailivestock.com เรื่องเล่าแปลงหญ้าอาถรรพ์คงจบลงในตอนนี้อย่างสมบูรณ์แล้ว สวัสดีครับ
บทความนี้ถูกตีพิมพ์ใน นิตยสารเพื่อนชาววัว ฉบับที่ 91 เดือนธันวาคม พ.ศ.2555