Search Category / ค้นหา
ตอน 2 จดทะเบียนวัวช่วยพัฒนาสายพันธุ์ได้อย่างไร
ตีพิมพ์ใน เพื่อนชาววัว ฉบับที่ 77 เดือนตุลาคม พ.ศ.2554
เรื่องเล่าจากดงประดู่ - ตอน 2 จดทะเบียนวัวช่วยพัฒนาสายพันธุ์ได้อย่างไร
สวัสดีครับ เพื่อนชาววัวทุกท่าน ขอย้อนหลังทบทวนความทรงจำซักนิดนะครับ ฉบับที่แล้วเราจับประเด็นหลักของคำถามที่ว่า ลงทุนลงแรงตีทะเบียนไปแล้วได้อะไร ซึ่งคำตอบเบื้องต้นผมเน้นชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ที่ใกล้ตัวเกษตรกรที่สุดก่อน นั่นก็คือราคาขายวัวที่จะดีขึ้นขายง่ายขึ้นจากการจดทะเบียน ด้วยเหตุผลทั้งทางตรงและทางอ้อม
- ทางตรงคือ เพิ่มความมั่นใจน่าเชื่อถือให้กับพันธุกรรมของวัวตัวนั้นๆโดยมีใบทะเบียนประวัติรับรองจากสมาคมฯเป็นแรงหนุน และการส่งเสริมการตลาดจากทางสมาคมฯที่จะช่วยเหลือสมาชิกได้
- ทางอ้อมคือ ช่วยให้รู้สายเลือดแท้จริงอันเป็นประโยชน์ในการพัฒนาพันธุ์วัว เพื่อสร้างวัวที่มีลักษณะดี ทั้งหัวหูโครงสร้างกล้ามเนื้อ เติบโตเร็ว แข็งแรง สมบูรณ์พันธุ์ดี ส่งผลให้ลดรายจ่าย(ค่าหยูกยา ค่าหมอ ที่มารักษาวัวป่วย) เพิ่มรายได้(วัวโตสวย เพศผู้ให้น้ำเชื้อแข็งแรง เพศเมียผสมติดง่าย สร้างชื่อให้ฟาร์ม ขายได้ราคา และแม้จะเป็นตัวผู้เกรดคัดทิ้ง ก็ยังขายเนื้อได้ราคา)
ในทางอ้อมนั้น เรื่องการจดทะเบียนยังส่งผลเห็นชัดในด้านการป้องกันปัญหาการผสมเลือดชิดได้ดีที่สุดอีกด้วย เพราะจากที่ผ่านมาเราไม่มีใบประวัติที่ชัดเจน พ่อไหนดังก็แห่กันใช้ สุดท้ายแล้วบางทีพี่น้องก็มาผสมกันโดยไม่รู้ตัว ก่อปัญหากับการพัฒนาสายพันธุ์โคอินดูบราซิลเป็นอย่างมาก ลองนึกกันดูว่าจริงหรือไม่ ที่ส่วนใหญ่แล้ววัวอินดูรุ่นหลังเริ่มมีอาการ สมบูรณ์พันธุ์ไม่ดีเช่น น้ำเชื้อไม่วิ่ง ไม่ยอมขึ้น ตัวเมียก็ผสมติดยาก เจ็บไข้ได้ป่วยง่าย ไม่ค่อยแข็งแรง อายุสั้น(ดังที่มีข่าวการสูญเสียวัวอินดูไปหลายตัว) แท้งหรือตายก่อนคลอด โตช้า โครงสร้างไม่ดี ฯลฯ และที่สำคัญ แสดงลักษณะด้อยออกมา เหล่านี้ส่วนใหญ่แล้วล้วนเกิดจากผลเสียของการผสมเลือดชิดทั้งนั้น
( วัวหน้าแด่นหางดอก ภาพจาก www.พรพนาฟาร์ม)
มารู้จักกับคำว่า ผสมแบบเลือดชิด (Inbreeding) กันสักหน่อย การผสมเลือดชิดมักจะเป็นคู่ที่มีความสัมพันธ์ทางสายเลือดใกล้กันมากๆ เช่น พ่อกับลูก แม่กับลูก หรือ พี่กับน้อง นักปรับปรุงพันธุ์จะใช้วิธีนี้เพื่อสร้างลักษณะเด่นไว้ในฝูง โดยเพิ่มความสามารถในการถ่ายทอดลักษณะเด่นไปให้รุ่นต่อไป แต่ขณะเดียวกัน วิธีผสมแบบเลือดชิดนี้ ก็อาจส่งผลเสียด้านสุขภาพ ป่วยง่าย อายุสั้น การตายของลูก พิการ การผสมติดยาก น้ำเชื้อด้อยคุณภาพลง โตช้า ดื้อไม่เชื่อง ลักษณะด้อยก็จะโผล่ได้ชัด เช่น ปากนกแก้ว ขนตาขาว หางขาว ขาบิดแคบชิดกัน ฯลฯ ดังนั้น นักปรับปรุงพันธุ์(Breeder)ที่เลือกใช้วิธีผสมแบบเลือดชิด จะต้องเข้มงวดในการกำจัดคัดทิ้ง ผลผลิตที่ออกมาเป็นลักษณะด้อย ซึ่งในความเป็นจริงแล้วต้องเป็นผู้ที่มีประสบการณ์สูงและที่จริงวิธีนี้ก็ไม่ค่อยมีใครนิยมใช้ เพราะแม้ว่าตัวที่คาดหวังว่าจะได้ดีนั้นถ้าได้ออกมาดั่งหวังก็จะให้ลูกนิ่งดีมาก แต่ทว่าโอกาสที่จะได้ตัวเด่นๆดีๆ มีน้อยเหลือเกิน เปอร์เซนต์ส่วนใหญ่แล้วจะออกมาเป็นลักษณะด้อยเสียมากกว่า นั่นหมายถึงต้องกำจัดคัดทิ้งกันมากกว่าครึ่งเลยทีเดียว
ยังมีวิธีการผสมพันธุ์อีกแบบที่คล้ายกันก็คือ การผสมภายในสายเลือด Line breeding ซึ่งเป็นการผสมภายในสายเลือดเดียวกันเพื่อรักษาลักษณะเด่นหรือยีนที่ดีของบรรพบุรุษตัวใดตัวหนึ่งให้เข้มข้นเอาไว้เป็นพิเศษ แต่จะแตกต่างกันตรงที่ความห่างของความสัมพันธ์จะมากกว่า เช่น ปู่กับหลาน ทวดกับเหลน หรือมีปู่กับตาเป็นตัวเดียวกัน โดยมีเป้าหมายคือดึงลักษณะของพ่อวัวตัวนั้นๆ ให้กลับมาคงลักษณะโดดเด่นอยู่ในฝูง เช่นปู่เป็นพ่อวัวที่สวยน่าประทับใจ เมื่อมีหลานหรือเหลนเพศเมีย ก็นำเอากลับมาผสมด้วยอีก ผลงานที่ได้ก็จะมีโอกาสเหมือนตัวพ่อพันธุ์นั้นมาก ดังเช่นที่ฟาร์ม HK Cattle ที่มลรัฐเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา ใช้พ่อพันธุ์ +HK MR. AMERICA 61/9 เป็นตัวต้นแบบ หรือที่ฟาร์ม JD Hudgins ใช้พ่อพันธุ์ Manso เป็นตัวต้นแบบในดวงใจนั่นเอง วิธีนี้จะทำให้วัวในฝูงจะคงลักษณะของพ่อพันธุ์ตัวนั้นๆเอาไว้ได้ เปรียบเหมือนเป็นแม่พิมพ์ของฝูงเลยก็ว่าได้ แต่วิธีการนี้ก็ต้องคัดลักษณะด้อยทิ้งอย่างเข้มงวดเช่นกัน
สำหรับข้อเสียของวิธีการผสมแบบนี้ ก็คล้ายๆกับการผสมแบบเลือดชิด แต่ว่าเปอร์เซนต์ที่จะแสดงลักษณะไม่พึงประสงค์จะน้อยกว่าการผสมแบบเลือดชิด ดังนั้นนักปรับปรุงพันธุ์ก็ยังคงต้องคอยคัดเลือกและกำจัดคัดทิ้งตัวที่แสดงยีนด้อยออกมา ในฟาร์มดังๆของเมืองนอกนั้นเขาคัดทิ้งอย่างเข้มงวด(ความหมายก็คือส่งเชือดนั่นแหละ) ทำให้ในที่สุดวัวเขาสวยเสมอกันทั้งฝูงและพัฒนาไปได้รวดเร็วมาก อาจเป็นเพราะบ้านเขามีวัวเยอะและมีพื้นที่การทำฟาร์มก็มาก ต่างจากคนไทยที่มีวัวน้อยตัว เวลาจะคัดทิ้งก็เสียดาย จึงยิ่งทำให้การพัฒนาพันธุ์ไปได้ช้า ยิ่งไม่การบันทึกพันธุ์ประวัติด้วยแล้ว ยิ่งไม่รู้เลยว่าควรจะต้องเฝ้าระวังหรือสังเกตตัวไหนเป็นพิเศษบ้าง
วัวปากนกแก้ว ปัญหาจากเลือดชิด
ที่จริงแล้วแค่อยากให้รู้จักกับการผสมแบบเลือดชิดเพื่อจะได้อธิบายผลดีของการจดทะเบียน แต่ไหนๆมาถึงขั้นนี้แล้ว ขอต่อด้วยการผสมพันธุ์แบบที่บ้านเรานิยมใช้กันบ่อยๆเพราะมีข้อดีมากกว่าข้อเสีย นั่นก็คือ การผสมข้ามแบบต่างสายเลือด Out Breeding ซึ่งในกรณีนี้เราหมายถึงวัวพันธุ์เดียวกันแต่ไม่ได้เป็นเครือญาติไม่ได้มีความสัมพันธ์ทางสายเลือดกัน ซึ่งเรียกแยกประเภทว่า การผสมข้ามภายในพันธุ์ Out crossing จุดประสงค์การผสมแบบนี้เพื่อให้ได้สัตว์ที่มีลักษณะตามความต้องการของตลาด หรือแก้ไขลักษณะที่บกพร่องของสัตว์ในฝูงให้สมบูรณ์ โดยคัดสรรพ่อพันธุ์ดีจากฝูงอื่น ที่มีลักษณะตรงตามความต้องการมาผสมกับแม่พันธุ์ในฝูงของเรา หลักใหญ่ก็เพื่อต้องการเอาข้อดีของทั้งพ่อและแม่มารวมกันแล้วให้ออกมาดีกว่าพ่อแม่ ที่เราเรียกว่าอภิชาติบุตร (Heterosis / Hybrid Viqor) นั่นเอง
เมื่อได้ทำความเข้าใจกับคำว่าเลือดชิดแล้ว แน่นอนว่านักปรับปรุงพันธุ์ส่วนใหญ่คงไม่อยากใช้วิธีการผสมแบบ Inbreeding หรือ Line breeding เพราะบ้านเรามีวัวน้อย ถ้าใช้การผสมข้ามแบบต่างสายเลือด Out Breeding แล้วมีโอกาสออกมาได้ดีกว่า ก็คงไม่เสี่ยงมาเลือกใช้วิธีผสมที่อาจจะต้องคัดลักษณะด้อยไปส่งโรงเชือดกันหรอกครับ โดยเฉพาะการเอาพ่อผสมลูกหรือพี่ผสมน้องแบบเลือดชิดนั้น คงไม่มีใครเสี่ยงทำแน่นอน แต่ว่าด้วยความที่ไม่มีใบพันธุ์ประวัติแล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่า คู่นั้นไม่ใช่พ่อลูกกัน ยิ่งในยามที่พ่อพันธุ์บางตัวดังก้องฟ้ามีลูกเต็มบ้านหลานเต็มเมือง เมื่อไม่มีใบทะเบียนประวัติมาไว้ยืนยัน ก็อาจจะถูกหลอกให้ผสมเลือดชิดได้โดยไม่รู้ตัว ดังนั้น การจดทะเบียนที่มีการรับรองความถูกต้องโดยสมาคมฯทำให้เรารู้ประวัติพ่อแม่และบรรพบุรุษทั้งสายพ่อและสายแม่ที่จริงแท้แน่นอน ทำให้เราสามารถเลือกผสมวัวให้ไม่เกิดเลือดชิดได้
ตัวอย่าง Line breed ของฟาร์ม JD Hudgins
อีกปัจจัยหนึ่งที่ถือเป็นต้นตอของปัญหาเลือดชิดในวงการอินดูบ้านเรา ก็คือ ด้วยข้ออ้างของกรมฯที่ไม่สนับสนุนวัวสวยงาม โดยไม่นับวัวอินดูเป็นวัวเนื้อเศรษฐกิจ ไม่สนับสนุนหรืออนุญาติให้นำเข้าน้ำเชื้อวัวอินดูบราซิล ทำให้เราไม่มีเลือดใหม่ๆมาพัฒนา สุดท้ายก็เหมือนพายเรือวนในอ่าง แก้ปัญหาเลือดชิดไม่จบกันเสียที
สรุปส่งท้ายประเด็นฉบับนี้ เป็นเป้าหมายลึกๆของการที่สมาคมสยามอินดูและพวกเราทุกคนควรจะสนับสนุนให้มีการจดทะเบียนบันทึกพันธุ์ประวัติวัว ก็คือเรื่องของการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์นั่นเอง หวังว่า หลังจากอ่านฉบับนี้แล้วเกษตรกรชาววัวอินดูบราซิลทุกท่าน คงจะเห็นว่ามันไม่ใช่เรื่องไกลตัวพวกเราเลย แม้ว่าสมาคมฯยังไม่ทำ ก็ควรจดบันทึกของฟาร์มตนเองไว้ก่อน แล้วนี่มีสมาคมฯมารับจดทะเบียน มาดูแลความถูกต้องน่าเชื่อถือให้ ยิ่งสมควรส่งวัวจดทะเบียนเป็นอย่างยิ่ง
ฉบับหน้า มาติดตามเรื่องการตีเบอร์เพื่อจดทะเบียนวัวกันครับ
ตีพิมพ์ใน เพื่อนชาววัว ฉบับที่ 77 เดือนตุลาคม พ.ศ.2554