Search Category / ค้นหา
อยากลองทำวัวอีทีดูบ้าง ตอน 5 สรุปผลการย้ายฝากตัวอ่อน

สำหรับผู้ที่คิดจะทำ ต้องค้นหาเป้าหมาย
และตอบตัวเองให้ได้ก่อน ว่าทำไมถึงอยากทำET
ตอน 5 สรุปผลการย้ายฝากตัวอ่อน
คราวนี้หลังจากทำการย้ายฝากตัวอ่อนกับแม่ V8 864/3 เสร็จไปแล้ว แม้ว่าจะเหมือนโชคร้ายที่ติดเชื้อมีหนองในมดลูก แต่ก็ยังมีตัวอ่อนหัวแข็งบางตัว รอดอยู่ให้ชะล้างออกมาฝากได้ถึง 3ใบ ต่อจากนั้นก็มาดูทางเจ้า SK 237 กันบ้าง
วันที่ 12 ต.ค. 2548 เราล้วงตรวจ แม่วัวตัวให้ SK 237 พบว่า มีมีการตกไข่ จึงเริ่มทำโปรแกรมการฉีดฮอร์โมน FSH เข้ากล้าม 2.5 cc ทุก 12 ชั่วโมง (เช้า-เย็น) เป็นเวลา 4 วัน คือตั้งแต่วันที่ 13 ถึงวันที่ 16 ต.ค. 2548 เพื่อกระตุ้นให้เกิดไข่จำนวนหลายๆใบ และเนื่องจากรอบที่แล้ว เจ้า SK 237 มีอาการผนังรังไข่หนาและมีแนวโน้มจะไม่ตกไข่ จนกลายเป็นปัญหา ดังนั้น คืนวันที่ 15 ต.ค. เราจึงฉีด Illiren 2.5 cc เข้าเส้นเลือด ในที่สุดช่วงเย็นวันที่ 17 ต.ค. เจ้า SK 237 ก็มีอาการเป็นสัด จากการล้วงตรวจพบว่ามีไข่ประมาณ 3-4 ใบ ถือว่าค่อนข้างน้อย น่าจะเป็นเพราะวัวตัวนี้ ไม่ค่อยสนองตอบการเหนี่ยวนำด้วยฮอร์โมนเท่าไหร่นัก แล้วแบบนี้จะเหลือให้ลุ้นใช้งานได้แค่กี่ใบกัน ความหวังดูช่างริบหรี่เสียเหลือเกิน
มาดูทางตัวรับของรอบนี้กันบ้าง วันที่ 13 ต.ค. 2548 เราล้วงตรวจและคัดตัวรับได้ 9 ตัว เช้าวันที่ 15 ต.ค. เราฉีด Illiren เข้ากล้ามตัวละ 5 cc. จากนั้นก็รอตรวจเช็คอาการเป็นสัด
สรุปผลของรอบที่ 2 กันเลยดีกว่า
เพื่อไม่ให้เปลืองเนื้อที่บทความ เพราะขั้นตอนการทำ ET ก็ไม่แตกต่างกัน ต่างกันแค่ผลที่ได้แต่ละรอบไม่เหมือนกันแค่นั้นเอง รอบนี้เราชะล้างตัวอ่อนออกมาได้ 3ใบ แต่มีแค่ 1ใบที่ปฏิสนธิและเป็นเพียงเกรดพอใช้เท่านั้น อีก 2ใบไม่ถูกผสม การที่มีไข่น้อยเพราะแม่วัวตัวให้ไม่ตอบสนองฮอร์โมน แต่การที่ไข่ไม่ปฏิสนธิมีได้หลากหลายสาเหตุมากไม่ต่างจากเหตุผลการผสมเทียมไม่ติดนั่นแหละ เช่น เวลาผสมไม่เหมาะสม เร็วหรือช้าเกินไป ไข่ตกช้ากว่าปกติ ฯลฯ หรือ ละลายน้ำเชื้อด้วยอุณหภูมิที่ไม่เหมาะสม หรือ น้ำเชื้อไม่แข็งแรง(แต่กรณีนี้ตรวจสอบได้ด้วยการส่องตรวจก่อนผสม) หรือแม่วัวไม่สมบูรณ์เพียงพอ โดยเฉพาะแม่วัวที่อายุมาก และอีกหลากหลายเหตุผล สรุปว่ารอบนี้เราได้ฝากไปที่แม่วัวนมตัวรับแค่ใบเดียวเท่านั้น
โดยเฉลี่ยแล้ว การฝากสดแบบนี้ อัตราติดอยู่ที่ 50 เปอร์เซนต์ แต่มีให้ฝากใบเดียวแถมยังเป็นเกรดกลางๆเสียด้วย จึงทำให้เราแทบจะไม่คาดหวังกันเลยว่าจะได้ลูกวัวจากการฝากครั้งนี้
ลุ้นสังเกตการกลับสัดจนกระทั่งตรวจท้อง
ผลสรุปของ V8 864/3 จากการฝากตัวอ่อน 3 ตัว คือ ดี พอใช้ และ แย่ ( A B C ) เรารอลุ้นในช่วงวันกลับสัดด้วยใจจดจ่อ พอวันที่ 6 ต.ค. แม่วัวตัวรับก็กลับสัดถึง 2 ตัว แต่อีกตัวก็ผ่านการเป็นสัดรอบสองในวันที่ 27 ต.ค. ไปด้วย หลังจากครบ 60 วัน ล้วงตรวจดูก็ยืนยันได้ว่าท้องแน่นอน แม่วัวอุ้มบุญตัวนี้เป็นแม่วัวนม เราฝากตัวอ่อนเกรดปานกลางเอาไว้ นั่นหมายความว่าไม่ใช่ว่าต้องไข่เกรดดีเท่านั้นที่จะใช้ได้ ไข่เกรดรองก็ฝากติดได้เหมือนกัน ที่ไม่ติดนั้นมีหลากหลายปัจจัย ไม่ต่างจากการผสมเทียมนั่นเอง
จากนั้นเราก็มานั่งลุ้นการกลับสัดแม่อุ้มบุญของ SK 237 ด้วยใจจดจ่อ หลังจากผ่านรอบไปวันที่ 7-8 พ.ย. ไม่มีอาการเป็นสัด เราก็มีความหวังขึ้นมาอีก รอลุ้นในรอบสอง และสุดท้ายเมื่อตรวจท้องที่ 60 วัน ก็พบว่าตั้งท้อง ซึ่งนับว่าโชคดีมากที่ฝากติดทั้งที่ดูแล้วมีความหวังน้อยเหลือเกินกับตัวอ่อนเกรดพอใช้แค่ใบเดียว
หลังจากนั้น เมื่อครบกำหนดคลอด เราได้ลูกวัวเพศเมียทั้งคู่
ในทะเบียนประวัติจะมีคำว่า (ET) ตามหลังชื่อวัว
ความคุ้มค่าจากการลองทำครั้งแรก
เทียบการที่ได้ลูกวัวเพศเมียมาก 2 ตัว จากแม่วัวตัวให้ 2 แม่ เท่ากับได้มาแม่ละตัวเดียวเท่านั้น ไม่ต่างกับการผสมเทียมธรรมดาเลย แต่มีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่ามากมายนัก โดยเฉพาะค่าวัวตัวรับที่เลี้ยงดูอย่างดี แม้ว่าเลิกโครงการแล้วจะขายวัวตัวรับได้ ก็ยังขาดทุนค่าเลี้ยงดูและค่าใช้จ่ายอื่นอีกเยอะแยะ เรียกว่าถ้าคิดแค่เรื่องเงิน ก็ขาดทุนชัดเจน ถ้าทำต่อไปเรื่อยๆ ก็จะมีโอกาสเฉลี่ยความเสี่ยงมากขึ้น (แต่นั่นหมายถึงต้องถมเงินลงไปอีกหลายเท่า ซึ่งเราไม่พร้อมมากขนาดนั้น)
ในมุมมองของเรา แค่อยากได้ลองทำ ได้ลองเรียนรู้ ลองสัมผัสของจริงสักครั้ง ก็คิดว่าคุ้มและเพียงพอแล้ว และคิดว่าการทำอีที ยังไม่เหมาะกับศักยภาพและขนาดของฟาร์มอย่างเรา แม้ว่าจะลองทำอีก 2-3 ครั้ง ในช่วงถัดมา แต่ก็ถือว่าได้เรียนรู้สมใจอยาก ได้ความรู้เรื่องระบบสืบพันธุ์และการใช้ฮอร์โมนมาใช้ประโยชน์กับฟาร์มในภายหลังอีกพอสมควร
สำหรับผู้ที่คิดจะทำ ต้องค้นหาเป้าหมาย และ ตอบตัวเองให้ได้ก่อน ว่าทำไมถึงอยากทำET
เส้นทางสู่ความสำเร็จในการทำET
การทำ ET นั้น ไม่ใช่ว่าทำแค่ครั้งเดียวเลิก ส่วนใหญ่แล้วต้องเป็นฟาร์มขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพเรื่องจำนวนตัวรับที่จะใช้ และค่าเฉลี่ยที่ทั่วโลกบอกว่า ฝากสด ติด 50 เปอร์เซนต์ ฝากแบบแช่แข็ง ติด 30 เปอร์เซนต์นั้น ใช่ว่าจะฝาก 3 ใบแล้วจะติด 1 ใน 3 ใบนั้น สถิติมาจากเป็น 100 สถิติแล้วนำมาหาค่าเฉลี่ย ดังนั้น ต้องตั้งใจทำต่อเนื่องไปเรื่อยๆ จนมีประสบการณ์และความชำนาญในด้านการเตรียมวัวตัวให้และตัวรับ จึงจะประสบผลสำเร็จ
หัวใจของความสำเร็จนั่นก็คือการเตรียมตัวให้และตัวรับ ให้ได้แม่วัวที่มีความสมบูรณ์พันธุ์ดีที่สุด นั่นคือต้องใส่ใจทั้ง อาหาร แร่ธาตุ สุขภาพ ความเครียด สภาพแวดล้อม ดินฟ้าอากาศ ฯลฯ
มีทางเลือกสำหรับวัวอีทีมากขึ้นในปัจจุบัน
ปัจจุบันอาจจะมีทางเลือกที่ง่ายขึ้น ในเรื่องของการเลือกซื้อตัวอ่อนแช่แข็งจากฟาร์มดังๆ แล้วเลี้ยงแม่วัวตัวรับไม่ต้องเยอะมากนักก็ได้ เมื่อแม่วัวตัวรับที่ฟาร์มเป็นสัดแบบธรรมชาติ (หรือจะเหนี่ยวนำก็ได้ ขึ้นกับความสะดวกของหมอและเจ้าของฟาร์มจะตกลงกัน) จากนั้นก็นำตัวอ่อนแช่แข็งมาทำละลายแล้วฝาก ก็เป็นอีกทางเลือกของผู้ที่อยากมีพันธุกรรมดีๆ หรือแม่กระทั่งบางฟาร์มที่มีแม่พันธุ์ดีๆมีความพร้อม ก็อาจจะทำตัวอ่อนแช่แข็ งขาย หรืออาจจะรับทำการฝากตัวอ่อนให้ติดท้องแล้วขายวัวตัวรับอุ้มท้องเลยก็ได้ คนซื้อก็ซื้อมานั่งลุ้นเอาเอง ว่าจะได้ตัวผู้หรือตัวเมีย ลูกพ่อนั้นกับแม่นี้ตัวนี้จะออกมาสวยแค่ไหน แต่ถ้าจะให้ได้ของดีแน่นอนไม่ต้องมานั่งลุ้นก็รอซื้อลูกวัวเลยได้ดั่งใจชัวร์ที่สุด เพียงแต่คงจะต้องจ่ายในราคาที่แพงกว่า
เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยสรุปปัญหาต่างๆในการทำอีที
- แม่วัวตัวให้สำคัญมาก การเลือกพ่อแม่ต้องเลือกให้เป็น พ่อแม่ไม่ดี การจับคู่ของพันธุกรรมไม่เข้ากัน ลูกวัวอีทีก็ออกมาไม่สวยได้เช่นกัน เสียเวลาและเปลืองทุนในการทำ
- แม่วัวตัวรับก็สำคัญ ระบบสืบพันธุ์ต้องดี อย่า คิดว่าวัวตัวที่ผสมติดยากๆก็เอามารับฝากท้องซะเลย และควรใช้แม่วัวนมเพราะเวลาให้นมลูกไม่เกี่ยงลูกใคร แม่วัวนม 1 ตัวสามารถให้นมเลี้ยงลูกได้2-3ตัว
- ฤดูฝนควรจะเลี่ยงเพราะพื้นคอก เฉอะแฉะสกปรก อุณภูมิแปรปรวนโอกาสพลาดสูง ทางแก้ คอกต้องจัดการให้ สะอาด แห้ง หรือไม่ก็ควรทำหน้าหนาวที่อุณหภูมิและความชื้นไม่เหวี่ยง ถ้าอากาศร้อนเพียงอย่างเดียวไม่กลัว แต่เดี๋ยวร้อน เดี๋ยวฝน เดี๋ยวหนาว อันนี้ก็เพิ่มอัตราความเสี่ยง
- ไม่ควรใช้ฮอร์โมนเหนี่ยวนำพร่ำเพรื่อเกินไป อาจจะทำให้แม่วัวระบบสืบพันธุ์เสีย
- ถ้าดูแลไม่ดี เกิดความผิดพลาด เช่น แม่ตัวรับเป็นไข้เห็บตายไปสักตัวเดียว ต้นทุนก็พุ่งขึ้นไปอีกหลายบาท
ผลผลิตจากการทำ Embryo Transfer รอบต่อมา
สุดท้ายนี้ ขอให้ทุกท่านที่สนใจและลองทำการย้ายฝากตัวอ่อน ซึ่งปัจจุบันง่ายขึ้นสะดวกขึ้นและต้นทุนต่ำลงมากกว่าเดิม ขอได้ประสบความสำร็จสมดั่งใจหวังกันถ้วนหน้านะครับ ถ้าอยากค้นหาข้อมูลหรือสอบถามเพิ่มเติม ท่านสามารถเข้าไปที่ เวบไซต์ www.thailivestock.com หรือสามารถพูดคุยสอบถามได้ที่ หมายเลขโทรศัพท์ 081 311-2752