Search Category / ค้นหา
เรื่องเล่าจากดงประดู่ ตอน แก้ปัญหามดลูกทะลักแบบบ้านๆ

อาการมดลูกทะลักนั้นไม่ควรปล่อยทิ้งไว้นาน เพราะอาจจะทะลักมากขึ้น
และที่สำคัญอาจจะแห้งและเกิดการตายของเนื้อเยื่อ ทำให้เกิดการระคายเคืองภายใน
แล้วส่งผลให้วัวเบ่งดันมดลูกออกมาอีก
แก้ปัญหามดลูกทะลักแบบบ้านๆ
ช่วงวันหยุดปีใหม่นี้ พอดีมีเคสมดลูกทะลักเกิดขึ้นกับวัวที่ฟาร์ม ผมเองก็เป็นเกษตรกรแบบไม่ได้ร่ำเรียนมา และหมอที่มาช่วยก็เป็นแค่สัตว์บาล แต่ปัญหาที่เห็นได้ชัดเลยก็คือช่วงเทศกาลวันหยุดยาวแบบนี้ เหลียวหาใครมาช่วยเหลือได้ยากเหลือเกิน อะไรที่พอจะทำเองได้ก็ต้องพึ่งตนเองเป็นหลักล่ะครับ
บ่อยครั้งที่เราพบว่ามันเป็นแค่ผนังช่องคลอดทะลักออกมา แค่ผนังหยุ่นๆแต่เราก็เรียกว่ามดลูกทะลัก สำหรับเคสนี้มดลูกทะลักของจริงครับ ดูซินอนท่าเดียวกับภาพเขียนในตำราวัวเลย มดลูกทะลักนั้นเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น อายุมาก ขาดแร่ธาตุ รกค้าง ฯลฯ ผมคัดลอกบทวิชาการเกี่ยวกับสาเหตุ และการป้องกันแก้ไข ลงไว้ให้อ่านกันในกรอบข้างล่างนะครับ
อาการมดลูกทะลักนั้นไม่ควรปล่อยทิ้งไว้นาน เพราะอาจจะทะลักมากขึ้น และที่สำคัญอาจจะแห้งและเกิดการตายของเนื้อเยื่อ ทำให้เกิดการระคายเคืองภายในแล้วส่งผลให้วัวเบ่งดันมดลูกออกมาอีกหลังจากยัดกลับเข้าไป มาดูกันว่าเราต้องทำอะไรกันบ้าง สำหรับเจ้าตัวนี้ตามหาหมอไม่ว่างสักราย สุดท้ายได้หมอวินัยเพื่อนกันมาช่วย แต่ก็บอกว่าต้องรอสักนิดนะ วันหยุดยาวแบบนี้งานเพียบ หมออื่นเขาหยุดกันหมด (หมอวินัย ปากช่อง 081 967-9862)
เราก็เอาวัวเข้าซองบังคับรอหมอ หรือถ้าไม่ดื้อมากเหมือนเจ้าพุงป่องนี่ก็ผูกล่ามไว้ในบริเวณที่จัดการง่ายก็พอครับ ถ้าต้องรอหมออีกนานก็ไม่ควรปล่อยให้แห้งหรือสกปรก แล้วทำไงดีล่ะ??? ก็ล้างให้สะอาดครับ ด้วยน้ำสะอาดผสมเบตาดีนจางๆ กะว่าเหมือนน้ำชาแก่ (แต่ตาแก้วมือหนักไปหน่อย เทแบตาดีนซะสีเข้มปื๊ด) เก็บเอาเศษดิน เศษหิน ขี้วัว เศษฟางที่อาจก่อการระคายเคืองออกให้หมด จากนั้นก็เอาผ้าสะอาดชุบน้ำมาโปะเอาไว้รอหมอ แต่รอบนี้ เราเริ่มล้างด้วยน้ำเปล่า เอาเศษสารพัดสกปรกออก แล้วก็ล้างด้วยน้ำผสมน้ำยาเดทตอลจางๆ ไป1รอบ ดูแล้วยังไม่ค่อยสะอาดแต่เดทตอลหมด ก็เลยล้างด้วยน้ำผสมเบตาดีนต่ออีกรอบจนสะอาด
จากนั้นก็เตรียมน้ำตาลทรายไว้ 2-3 กก. เผื่อเอาไว้ดึงน้ำออกจากส่วนที่ทะลักออกมา จะได้ยัดเข้าง่ายขึ้น และที่เราไม่ได้โป๊ะผ้าชุบน้ำระหว่างรอหมอเพราะว่าโทรคุยกับหมออีกรอบแล้วหมอบอกว่ากำลังจะมาถึง ในกรณีที่เป็นแค่ช่องคลอดทะลัก และผลุบๆโผล่ออกมาไม่มาก (โดยเฉพาะปลิ้นออกมาเวลานอน) การไล่ให้ลุกระหว่างรอหมอ ก็ช่วยได้ระดับหนึ่ง แต่ปลิ้นขนาดเจ้านี้ไล่ลุกก็ช่วยไม่ได้ครับ
ส่วนที่ต้องทำทั้งหลายแหล่ระหว่างรอหมอ ผ่านพ้นไปแล้ว แล้วหมอก็มาถึง โดยทั่วไปสิ่งที่ทำก็คือ ฉีดยาชา ลิโดเคน(Lidocain) เข้าช่องไขสันหลังบริเวณโคนหาง เพื่อลดการปวดเบ่ง แต่งานนี้หมอเลือกใช้วิธีฉีดยาซึมไซลาซีน(Zylazine) เข้าเส้นเลือด เมื่อวัวนิ่งซึมแล้วก็เริ่มจับยัด ปรากฏว่าเจ้าตัวนี้ยัดกลับเข้าไปยากมากครับ ตามตำราแล้วนั้นการยัดกลับเข้าไปควรกำมือแล้วดัน เพราะต้องระวังไม่ให้เกิดการบาดเจ็บฉีกขาดซึ่งอาจส่งผลให้เกิดภาวะการติดเชื้อในช่องท้องในภายหลัง แต่เจ้าพุงป่องน่าจะเชิงกรานแคบร่วมกับอ้วนมาก เลยยัดไม่เข้า ถ้ายึดตามตำราเป๊ะๆ กำมือดันสงสัยดันไม่เข้าแน่นอน ผลคือส่งเชือด
ฉะนั้น ต้องสุมหัวกันดันครับ เอาให้เข้า แต่ก่อนจะออกแรงขืนใจกันเต็มที่ อ๊ะ อ๊ะ ช้าก่อน ลองน้ำตาลทรายซะก่อนครับ โรยน้ำตาลทรายโปะลงไปให้ทั่วๆเยอะๆ น้ำตาลจะช่วยดึงน้ำที่บวมคั่งออกมา ทำให้อ่อนตัวลงกว่าเดิม โรยซ้ำๆสัก 3-4 เที่ยว มองโลกแง่ดี ถ้าดันไม่เข้าเราก็ได้ทำเนื้อหวานกันเลย เย้ยยยยยยย โปะน้ำตาลไปเป็นกิโลแล้ว ลดการบวมน้ำลงพอประมาณ(ไม่มากนักหรอกครับ) แต่ก็ยังยัดยากอยู่
มองภาพจากมุมนี้จะเห็นได้ว่า อวบอ้วนเนื้อปลิ้น เนื่องจากกินเก่งกินไม่เลือก ตลอดการท้องไม่ได้เสริมอาหารข้นเลยแม้แต่น้อย แต่ก็ยังอ้วนมาก ผมชอบเลี้ยงวัวหลากหลายสายพันธุ์ ชาร์โรเล่ส์ตัวนี้ก็เป็นวัวที่เจ้าเนื้อ อ้วนง่าย เวลาบอกขายก็ง่ายเช่นกัน
มาต่อเรื่องมดลูกกันก่อน หลังจากพยายามแล้วดันไม่เข้า เราก็ใช้เทคนิควิธีให้หัววัวอยู่ต่ำ โชคดีที่ระหว่างคอกมีทางต่างระดับลาดเอียงลงไปอยู่ก็ดึงหัววัวลงไปทางนั้น แล้วก็ร่วมด้วยช่วยกันดัน ยัดไป ก็หวั่นใจไป ปีใหม่นี้ได้ส่งวัวไปหาแขกซะละมั๊ง ดูมันจะไม่ยอมเข้าเลย สุดท้ายแล้วก็ดันเข้าไปจนได้ครับ อาจจะช้ำชอกเล็กน้อย แต่ก็ดีกว่าต้องส่งเชือด
ระหว่างที่รอการเย็บ เจ้าพุงป่องก็เบ่งดันมดลูกออกมาอีก จึงต้องให้ตาแก้วเอามือยันค้างเอาไว้ แล้วจึงให้หมอเย็บปิดปากช่องคลอด โดยใช้สายน้ำเกลือเย็บปิดแบบในภาพ (ผมเคยใช้เข็มเย็บกระสอบเจียรให้คม+สายน้ำเกลือ เย็บให้แม่แกะที่มีอาการมดลูกทะลัก ก็พอพึ่งตนเองได้ระดับหนึ่ง) หลังจากเย็บเสร็จก็ราดเบตาดีน โรยเนกาซันก์ป้องกันแมลงวันหยอดไข่ แล้วก็ฉีดยาแก้อักเสบ
คอยตามดูแลแผล ทายาโรยเนกาซันก์อีกระยะ หลังจากหายดีก็ควรล้างมดลูกอีกสักครั้งถ้าคิดจะผสมต่อ แต่เมื่อมีอาการมดลูกทะลักแล้วก็มักจะทะลักอีกในท้องถัดไป จึงต้องคอยระวัง หรือถ้าลูกหย่านมแล้ว ตัดใจขายส่งเชือดเลยก็แล้วแต่จะพิจารณา
ถ้าอยากชมภาพชุดนี้ชัดๆหลายๆภาพ ก็สามารถติดตามไปดูได้ในเวบไซต์ www.thailivestock.com นะครับ หวังว่าบทความนี้จะพอเป็นประโยชน์กับเพื่อนๆชาววัวกันบ้างไม่มากก็น้อยนะครับ
มดลูกทะลัก (ช่องคลอดทะลัก) (Vaginal prolapse)
(ข้อมูลจากสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ www.dld.go.th/niah)
ช่องคลอด (มดลูก) ทะลัก คือการที่มดลูกโผล่ออกมาภายนอกร่างกาย โดยมากจะพบในระยะหลังคลอดแม่โคจะเบ่งดันส่วนของปากมดลูก และโพรงปากมดลูก (vagina) บางส่วนหรือทั้งหมดออกมาทางปากช่องคลอด
สาเหตุ
- 1. มักพบในแม่โคที่มีอายุมากและให้ลูกมาหลายตัวแล้ว ทำให้กล้ามเนื้อบริเวณปากช่องคลอดหย่อนหรือไม่แข็งแรง
- 2. แม่โคผอมหรือขาดการออกกำลังกายในระยะก่อนคลอด
- 3. เกิดจากการขาดแร่ธาตุบางชนิด เช่น แคลเซี่ยม
- 4. เกิดจากความผิดปกติภายในระบบทางเดินอาหาร ทำให้เกิดอาการปวดเบ่ง เช่น กระเพาะลำไส้อักเสบจากการติดพยาธิ โดยเฉพาะพยาธิกลุ่มตัวกลมในกระเพาะลำไส้ (Gastro-intestinal nematode) เช่น พยาธิตัวกลมขนาดเล็กสีแดง (Mecistocirrus spp.)
- 5. รกค้าง
การแก้ไข
ให้ลดขนาดมดลูกที่บวมน้ำให้เล็กลงโดยใช้น้ำตาลทรายทาบริเวณมดลูกจากนั้นใช้ ยาชา (2% xylocain) ฉีดเข้าบริเวณช่องไขสันหลังส่วนล่าง (low epidural anesthesia) ประมาณ 5-8 ซี.ซี. ตามขนาดแม่โค จากนั้นใช้มือกำแน่นดันส่วนของมดลูกที่ไหลออกมาให้คืนกลับเข้าไปในช่องท้อง แล้วสอดยาปฏิชีวนะชนิดเม็ดเข้ามดลูก จากนั้นจึงเย็บปากช่องคลอดไว้ชั่วคราวด้วยไหมละลายขนาดใหญ่ แล้วฉีดฮอร์โมนพวก ออกซีโทซิน (oxytocin) เพื่อให้มดลูกมีการหดตัว โดยทั่วไปภายใน 1 สัปดาห์จะตัดไหมที่เย็บไว้ออกได้อย่างไรก็ดีควรหาสาเหตุและทำการแก้ไขสาเหตุ เช่น กรณีแม่โคเป็นโรคพยาธิภายในควรทำการถ่ายพยาธิ จะช่วยลดอาการปวดเบ่งในแม่โคทำให้การรักษามดลูกทะลักได้ผลดียิ่งขึ้น
การป้องกัน
- 1. เสริมแร่ธาตุก้อนหรือชนิดผงให้แม่โคได้เลียกินเป็นประจำ
- 2. ให้ยาถ่ายพยาธิภายในแก่แม่โคเป็นประจำ
- 3. ถ้าแม่โคมีอายุมากและเคยเป็นมดลูกทะลักมาก่อน ควรพิจารณาคัดแม่โคออกจากฝูงเพราะอาจจะเกิดซ้ำได้อีกเมื่อมีการคลอดลูกตัวต่อไป
---------------------------------
ที่มา ทัศนีย์ ชมภูจันทร์, มนัสนันนท์ ประสิทธิรัตน์ และมนยา เอกทัตร์ (บรรณาธิการ). 2539. คู่มือการดูแลสุขภาพโคนม" สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ. ฟันนี่พับบลิชิ่ง. ทัศนีย์ ชมภูจันทร์, สุรีย์ ธรรมศาสตร์, ปนันท์ ธนเจริญวัชร, จิรา คงครอง และเอกรินทร์ วัฒนพลาชัยกูร (บรรณาธิการ). 2539. คู่มือมาตรฐานการชันสูตรโรคสัตว์. สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ.โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย.