Search Category / ค้นหา
ไข้น้ำนม - Milk Fever

เกิดจากระดับแคลเซียมในเลือดลดลงต่ำกว่าปกติ
ไข้หลังคลอด!
น.สพ. ณัฐกิตติ์ โรจนวิสิษฎ์
ตอนนี้มีอีกเรื่องที่อยากจะมาแบ่งปันกันอีกครับ นั่นคือการเป็นไข้น้ำนมของแม่โคหลังคลอด ซึ่งในเกษตรกรวัวนมเขาเจอบ่อยปัญหา นี้เป็นเรื่องปกติเขาจึงไม่ค่อยมีปัญหาครับแต่ในวัวเนื้อแบบของเรานั้นไม่ค่อยเจอบางทีเจอแล้วก็ไม่รู้ด้วยว่าเป็นอะไรบางคนซื้อยามาฉีดหมดไปหลายบาทก็ไม่ได้ดีขึ้นมาเลยแม้แต่น้อย ผมจึงอยากเอาข้อมูลโรคตัวนี้มาให้ดูกันครับเผื่อว่าเวลาวัวเราเป็นแล้วจะแก้ไขยังไง สังเกตอาการยังไง แล้วทางที่ดีที่สุดคือจะป้องกันแบบไหน
โรคไข้น้ำนมหรือที่ฝรั่งเขาเรียกว่าMilk feverนั้น ไม่ได้เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้ออะไรทั้งสิ้นครับแต่เป็นโรคที่เกิดจากทำงานที่ผิดปกติของระบบเผาผลาญพลังงานในร่างกาย โดยมักมักเกิดหลังคลอดลูกใหม่ 1-10 วันหลังคลอด ในแม่โคท้องที่ 3-7 หรืออายุ 5-10 ปี และเกิดจากระดับแคลเซียมในเลือดลดลงต่ำกว่าปกติ โดยในวัวปกติหากทำการเจาะเลือด ระดับแคลปกติ ระดับแคลเซียมในเลือดควรมี 10 มิลลิกรัม ต่อเลือด 100 ซีซี แต่ถ้าเป็นแม่โคมีปัญหาไข้น้ำนมระดับแคลเซียมจะเหลือเพียง 2-6 มิลลิกรัม ต่อเลือด 100 ซีซี ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ระดับแคลเซียมในเลือดต่ำก็มีดังนี้ครับ
1.แม่โคเสียแคลเซียมเพื่อไปใช้สร้างนมน้ำเหลืองมากเกินกว่าการดูดซึมแคลเซียมกลับสู่ร่างกายทางลำไส้
2.แม่โคหลังคลอดลูก มีการดูดซึมแคลเซียมกลับสู่ร่างกายทางลำไส้ลดลง
3.มีการเอาแคลเซียมจากกระดูกมาใช้ แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะรักษาระดับแคลเซียมในเลือด
4.ต่อมพาราไทรอยด์ ไม่ทำงานตามปกติ
5.ในระยะ 1 เดือนสุดท้ายก่อนคลอด ให้อาหารที่มีแคลเซียมสูงฟอสฟอรัสต่ำอาหารที่มีแคลเซียมสูงจะไปกดต่อมพาราไทรอยด์ทำให้ทำงานช้าลง เมื่อโคคลอดลูก ปริมาณแคลเซียมจึงไม่เพียงพอ จึงเป็นเหตุว่า แม่โคก่อนคลอดควรให้อาหารที่มีฟอสฟอรัสสูงแคลเซียมต่ำ เพื่อไปกระตุ้นให้ต่อมพาราไทรอยด์ทำงานดีขึ้น
แม่วัวที่เป็นโรคนี้จะมีอาการแบ่งเป็นระยะได้ดังนี้ครับหากเป็นแล้วก็ให้สังเกตกันให้ดี
ระยะที่ 1 สัตว์จะมีอาการตื่นเต้น ไวต่อการกระตุ้นมาก กล้ามเนื้อสั่น ไม่อยากเคลื่อนไหว ไม่กินอาหาร หัวสั่น ลิ้นจุกปาก เคี้ยวฟัน ขาหลังแข็ง
ระยะที่ 2 สัตว์จะล้มลงนอนบนหน้าอก ความรู้สึกจะช้าลง แม่โคจะง่วงเหงาซึมเซา คอบิดหันหัวไปทางสวาป ลุกยืนไม่ได้ ปากแห้ง จมูกแห้ง ผิวหนัง ปลายหู ปลายเท้า เย็น ม่านตาขยาย นัยน์ตาแห้ง ทวารหนักหย่อนยานไม่มีความรู้สึก อุณหภูมิของร่างกายอาจต่ำกว่าปกติ
ระยะที่ 3 สัตว์ป่วยจะนอนตะแคง ขาอ่อนไม่สามารถลุกขึ้นยืนได้ หัวใจเต้นเร็ว อุณหภูมิต่ำ มักมีอาการท้องอืดแทรก สัตว์จะค่อย ๆ หมดความรู้สึก และตาย
เห็นไหมครับอาการแบบนี้แหละที่ทำให้หลายคนเสียวัวมานักต่อนักบางคนรู้แต่ว่าวัวป่วยก็จะเอาแต่ยาแก้ไข้ฉีดกันไม่มียั้ง หากเรารู้จักอาการสังเกตกันซักนิด บางทีปัญหาพวกนี้เหมือนเส้นผมบังภูเขาเลยครับ ทีนี้เรามาดูการแก้ไขกันบ้าง
การแก้ไข
ให้แคลเซียมโบโรกลูโคเนตเข้าทางเส้นเลือดดำ ขนาด 400-800 ml ควรใ ห้ช้า ๆ หรือครึ่งหนึ่งให้ทางเส้นเลือดดำ อีกครึ่งหนึ่งให้ใต้ผิวหนัง โดยใต้ผิวหนังจะให้หลาย ๆ แห่ง
ข้อพึงระวังในการให้แคลเซียมเข้าทางเส้นเลือด
- อย่าให้เร็วเกินไป ถ้าให้แคลเซียมเร็วเกินไปอาจทำให้สัตว์ช็อคตาย เนื่องจากแคลเซียมจะทำให้หัวใจเต้นเร็ว
- ในระหว่างให้แคลเซียมควรฟังการเต้นของหัวใจไปด้วย ถ้าพบว่าหัวใจเต้นถี่เร็ว ควรหยุดทันที รอจนหัวใจเต้นปกติ จึงเริ่มให้ใหม่ ถ้าพบว่าเกิดการช็อคเนื่องจากให้แคลเซียมเร็วเกินไป แก้ไขได้โดยให้แมกนีเซียมซัลเฟต 10 % ปริมาณ 300 ml เข้าทางเส้นเลือดดำ
การป้องกันโรคไข้น้ำนม
ก่อนคลอด ควรให้โคได้ถูกแสงอาทิตย์ยามเช้า เนื่องจากโคจะสามารถสร้างวิตามินดีที่ผิวหนังจากแสงแดด และวิตามินดี จะช่วยในการดูดซึมแคลเซียมของลำไส้ และระยะ 1 เดือนก่อนคลอด ควรมีการจัดการด้านอาหารที่ดี โดยควรให้อาหารที่มีฟอสฟอรัสสูงแคลเซียมต่ำเพื่อให้ต่อมพาราไทรอยด์ทำงานมากขึ้น
บทความนี้ถูกตีพิมพ์ใน นิตยสารเพื่อนชาววัว ฉบับ เดือนพฤษจิกายน 2553