Search Category / ค้นหา
Civet ตอน 1 - สัตว์วงศ์ชะมดเช็ดและอีเห็น

ลองนึกถึง2อย่างนี้แล้วอาจจะรู้สึกคุ้นหูขึ้นมาบ้าง
คือ ไขชะมดเช็ดกับกาแฟขี้ชะมด
เรื่องเล่าจากดงประดู่ นอกจากวัวแล้วเลี้ยงอะไรอีกดี???
จากที่เล่ามาหลายตอน มีทั้งสัตว์ที่ฟังดูแล้วก็ธรรมดาไม่แปลก เช่น สุนัข ม้า แพะ แกะ ไปแล้ว แม้จะมีความแปลกบ้างตรงที่เอามาฝึกให้เป็นสัตว์เลี้ยงตามบ้านหรือรีสอร์ทแล้วก็รับออกงานอีเวนท์ต่างๆด้วย และที่แปลกขึ้นมากหน่อยก็เป็นหมูจิ๋ว หมูพื้นเมืองของเวียดนาม ที่เอามาเป็นสัตว์เลี้ยงและฝึกเพื่อรับงานอีเวนท์เช่นกัน แต่ฉบับนี้เราจะมาเริ่มเรื่องยาวกับสัตว์เลี้ยงตัวใหม่ที่ฟังแล้วออกจะแปลกกว่าตัวอื่นๆ ซึ่งเป็นสัตว์ป่าที่กำลังจะพัฒนามาสู่สัตว์เศรษฐกิจ และอาจจะทำรายได้เข้าประเทศได้ไม่ใช่น้อย นั่นคือ สัตว์วงศ์ชะมดและอีเห็น
ถ้าสงสัยว่ามันจะเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่ทำรายได้เข้าประเทศได้ตรงไหนหรือ ลองนึกถึง2อย่างนี้แล้วอาจจะรู้สึกคุ้นหูขึ้นมาบ้าง คือ ไขชะมดเช็ดกับกาแฟขี้ชะมด ขยายความตรงเรื่องราคาอันแสนเร้าใจที่ฟังใน ก็คือไขชะมดเช็ด ราคากิโลกรัมละ 250000 บาท (สองแสนห้าหมื่นบาท) กับกาแฟขี้ชะมด ที่มีสนนราคาต่อแก้ว ถึง 900 บาท (อ่านไม่ผิดแน่นอน กาแฟแก้วละเก้าร้อยบาท) นี่คือราคาที่เอามาโปรโมทกันช่วงแรกตอนต้นปี พ.ศ. 2554 ในความเป็นจริงเวลาออกจากผู้ผลิตก็คงไม่มากมายนัก เพราะกำไรส่วนต่างมักจะไปอยู่กับพ่อค้าคนกลางเสียหมด เช่นเดียวกับสัตว์เศรษฐกิจต่างๆในบ้านเรานั่นแล
ที่มาของสัตว์วงศ์ชะมดและอีเห็นของดงประดู่ฟาร์ม
ในช่วงเดือนพฤษภาคม ปี 2554 ผู้เขียนได้รับโทรศัพท์จากคุณอาของผู้เขียนที่ทำงานวนเวียนอยู่ในแวดวงสื่อ บอกว่าไปฟังสัมมนาชะมดเช็ดที่มหาวิทยาลัยเกษตรมา แล้วก็เลยคิดว่าเหมาะกับฟาร์มเรามาก เขาจัดทริปไปดูงานที่เพชรบุรีกันด้วย สมควรที่จะต้องไปดูเป็นอย่างยิ่งและยังจ่ายตังค์จองตั๋วไว้ให้แล้วด้วย เล่นบอกแกมบังคับไปในตัวแบบนี้ผู้เขียนก็ต้องไปน่ะซิ แต่ก็ต้องขอบคุณและถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับการเพาะเลี้ยงสัตว์วงศ์ชะมดและอีเห็นของดงประดู่ฟาร์ม
จากนั้นชีวิตก็วนเวียนมาเจอกับเรื่องราวเกี่ยวกับสัตว์วงศ์ชะมดและอีเห็นอีกหลายครั้ง แล้วก็เริ่มขวนขวายหามาทดลองเลี้ยงเพื่อทำความรู้จักกับสัตว์เหล่านี้ให้มากขึ้น คงต้องขอบอกผู้อ่านทั้งหลายก่อนว่า เรื่องของไขชะมดกับเรื่องของกาแฟนั้นแยกออกจากกัน ทั้งนี้เนื่องจากไขชะมดในบ้านเราได้มาจากตัวชะมดเช็ดเท่านั้นที่มีการเช็ดไขให้เราได้เก็บแต่พวกที่เหลือเช่นอีเห็นชนิดต่างๆหรือหมีขอนั้นไม่เช็ดไขแม้ว่าบางตัวอาจจะมีต่อมกลิ่นก็ตาม
ส่วนเรื่องของกาแฟขี้ชะมดนั้น แท้จริงแล้วหลักๆมาจากตัวอีเห็น เพราะว่าสัตว์กลุ่มอีเห็นนั้นกินผลไม้มากกว่าเนื้อสัตว์จึงกินผลกาแฟสดเป็นอาหารได้มากกว่า แต่สัตว์กลุ่มชะมดนั้นกินเนื้อเป็นหลักจึงไม่ค่อยจะกินผลกาแฟเท่าใดนัก แต่สาเหตุที่เรียกกาแฟขี้ชะมดนั้นน่าจะมาจากต้นตำหรับของประเทศอินโดนีเซียเขาเรียกกาแฟกูปีลูวัคของเขาว่า Civet Coffee ซึ่งCivetนั้นก็เป็นสัตว์ในวงศ์ชะมดและอีเห็นนั่นเอง แต่คาดว่าคำว่ากาแฟขี้อีเห็นคงจะฟังไม่เสนาะโสตหรืออย่างไรก็สุดที่จะเดา จึงกลายมาเป็นกาแฟขี้ชะมดไปซะ ถ้าอย่างนั้นผู้เขียนคิดว่าหลบไปเรียก Civet Coffee ก็คงจะดูหรูกว่า สรุปว่าจะเรียกยังไงก็แล้วแต่ จากตอนนั้นเป็นต้นมาเราก็มีสัตว์วงศ์ชะมดและอีเห็นมาเป็นสมาชิกในดงประดู่ฟาร์มแล้ว
อีกปัญหาใหญ่ที่แยกกันชัดเจนระหว่างชะมดและอีเห็นก็คือ ชะมดเช็ด เป็น สัตว์ป่าคุ้มครองที่อนุญาตให้เพาะเลี้ยงเพื่อการค้าได้ แต่นั่นหมายถึงต้องขอครอบครอง ขอเป็นผู้เพาะเลี้ยง ขอเป็นผู้จำหน่าย และพ่อแม่พันธุ์ที่ได้มาต้องเป็นพ่อแม่พันธุ์ชะมดเช็ดที่ถูกต้องตามกฏหมาย ซึ่งปัจจุบันผ่านมา2ปีแล้วก็ยังหาได้ยากเหลือเกินสำหรับพ่อแม่พันธุ์ที่ถูกต้องตามกฏหมาย แตกต่างจากอีเห็นที่หลุดโผไม่อยู่ในรายการสัตว์ป่าคุ้มครอง จึงสามารถเพาะเลี้ยง ครอบครอง และจำหน่ายได้อย่างอิสระเสรี
ก่อนจะเลี้ยงก็ต้องหาข้อมูลกันก่อน
เช่นเดียวกับสัตว์ทุกชนิดที่ผ่านมาของดงประดู่ฟาร์ม ก่อนที่จะนำมาเลี้ยงก็ต้องหาข้อมูลกันเสียก่อน ว่ามันกินอยู่แบบไหน นิสัยอย่างไร ฯลฯ และอย่างที่บอกไว้ว่า ง่ายที่สุดก็ใช้อินเตอร์เนทถามจากในกูเกิ้ลก็จะมีข้อมูลให้เราได้ค้นหากันแล้ว ลองมาอ่านดูกัน
ข้อมูลสัตว์วงศ์ชะมดและอีเห็น จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ชะมดและอีเห็น (อังกฤษ: Civet, Genet) เป็นสัตว์จัดอยู่ในไฟลัมสัตว์มีแกนสันหลัง ชั้นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอันดับสัตว์กินเนื้อจำพวกหนึ่ง
ชะมดและอีเห็นเป็นสัตว์ในวงศ์เดียวกัน นั่นคือวงศ์ Viveridae เป็นสัตว์กินเนื้อขนาดกลาง ลำตัวยาว ขาค่อนข้างสั้น มีขนาดความยาวหัว-หาง ต่างกันตั้งแต่ 30-100 เซนติเมตร น้ำหนักตั้งแต่ไม่ถึงกิโลกรัมจนถึง 14 กิโลกรัม ส่วนใหญ่มีหัวเล็ก ปากแหลมสั้น ดวงตาขนาดปานกลาง ส่วนใหญ่มีลายแถบ หรือลายจุดตามลำตัว หางมักมีลายเป็นปล้อง หดเล็บได้ ส่วนใหญ่มีต่อมรอบก้นที่ผลิตสารกลิ่นฉุน บางชนิดแรงพอที่จะใช้เป็นอาวุธขับไล่ศัตรูได้ ส่วนประกอบของสารนี้ใช้ทำน้ำหอมหรือยาสมุนไพรได้
สัตว์ในวงศ์นี้อาศัยอยู่ในทางใต้ของยุโรป แอฟริกา และเอเชีย รวมถึงอินโดนีเซีย ฟิลิปินส์ มาดากัสการ์ มีทั้งสิ้น 20 สกุล 34 ชนิด
ชะมดและอีเห็นมีสายตาดี จมูกดี และหูดี ส่วนใหญ่หากินกลางคืน อาหารหลักคือ มีกระดูกสันหลังขนาดเล็ก แมลง รวมถึงสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังเช่นหนอน ปู กุ้ง บางชนิดกินเนื้อเพียงอย่างเดียว แต่บางชนิดก็กินผลไม้และรากไม้ด้วย สัตว์พวกนี้ไม่ค่อยสมาคมกันเป็นฝูงใหญ่ จึงมักพบเพียงตัวเดียวหรือเป็นคู่ มักปีนต้นไม้เก่ง มีเพียงไม่กี่ชนิดที่ชอบหากินบนพื้นดิน
ทีนี้ลองมาดูที่ชะมดเช็ดอย่างเดียวก่อน ว่าเจ้าตัวชะมดเช็ดที่ใช้ผลิตไขชะมดเพื่อเอาไปเข้าเครื่องหอมเครื่องยาไทย ในตำราการแพทย์แผนไทยมีการระบุถึงสรรพคุณว่าใช้แก้โลหิตพิการ ขับผายลม แก้หืด ไอ วิงเวียนศีรษะนอกจากนี้ยังใช้เป็นตัวทำให้น้ำหอมอยู่คงนาน แต่ผลผลิตของชะมดมีในปริมาณที่ค่อนข้างน้อย เจ้าตัวชะมดเช็ดเป็นอย่างไรลองมาดูข้อมูลจากวิกิพีเดียกัน
ชะมดเช็ด หรือ มูสัง (อังกฤษ: Indian small civet; ชื่อวิทยาศาสตร์: Viverricula indica) สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมชนิดหนึ่ง จัดเป็นชะมดขนาดเล็ก ขาสั้น หูทั้งสองข้างอยู่ใกล้กัน เมื่อมองไกล ๆ อาจคล้ายแมว จนตามลำตัวมีสีน้ำตาลเหลือง และมีจุดสีดำขนาดเล็กแทรกอยู่ทั่วไปตามลำตัว มีแถบสีดำและขาวบริเวณลำคอ หางมีวงสีดำ 6-9 ปล้องพาดขวางอยู่ ทำให้มีดูมีลักษณะเป็นปล้องสีดำ ไม่มีขนแผงสันหลัง ปลายหางมีสีขาว ขาหลังมีต่อมกลิ่นที่ใช้สื่อสารระหว่างพวกเดียวกัน และจัดเป็นสิ่งมีชีวิตเพียงชนิดเดียวที่อยู่ในสกุล Viverricula มีขนาดความยาวลำตัวและหัว 54-63 เซนติเมตร ความยาวหาง 30-43 เซนติเมตร น้ำหนัก 2-4 กิโลกรัม
มีการกระจายพันธุ์ที่กว้างขวางตั้งแต่ตะวันออกของปากีสถาน, อินเดีย, จีนตอนใต้, ไต้หวัน, เนปาล, บังกลาเทศ, พม่า, ไทย, ลาว, กัมพูชา, เวียดนาม, มาเลเซีย, เกาะสุมาตราและเกาะบาหลี ชะมดเช็ดในประเทศไทยสามารถพบได้ทุกพื้นที่และทุกภาค
ชะมดเช็ดมักอาศัยในป่าที่ไม่รกชัฏ หากินบริเวณชายป่าที่ติดต่อกับพื้นที่ที่มนุษย์อยู่อาศัยและทำการเกษตรกรรม กินอาหารได้หลากหลาย ทั้งพืชและสัตว์ และอาจล่าสัตว์เลี้ยงจำพวก เป็ด, ไก่ กินเป็นอาหารได้ด้วย ออกมากินในเวลากลางคืน นอนหลับพักผ่อนในเวลากลางวัน โดยปกติแล้วจะอาศัยอยู่ตามลำพัง แต่ในฤดูผสมพันธุ์จะอาศัยอยู่เป็นคู่ แม่ชะมดเช็ดจะออกลูกครั้งละ 3-5 ตัว โดยขุดโพรงดินตื้น ๆ หรือหาโพรงตามโขดหินสำหรับเป็นที่ออกลูกและเลี้ยงดูลูกอ่อน เมื่อผ่านช่วงผสมพันธุ์ไปแล้ว แม่ชะมดเช็ดจะเลี้ยงลูกตามลำพัง
ชะมดเช็ดในฟาร์มเพาะเลี้ยงทางภาคเหนือ
อีเห็นข้างลาย
ฉบับนี้ใช้พื้นที่เกินอีกแล้ว สำหรับสัตว์วงศ์ชะมดและอีเห็นและเรื่องราวของไขชะมดหรือกาแฟขี้ชะมดนั้นยังมีอีกมากมาย คงต้องมาติดตามต่อกันในฉบับหน้าครับ