Search Category / ค้นหา
Civet ตอน 2 - ชะมดเช็ด
ไขชะมดที่มีมูลค่าสูงและมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ
เป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ
เรื่องเล่าจากดงประดู่ ตอน 28 นอกจากวัวแล้วเลี้ยงอะไรอีกดี???
กลับมาแล้วครับ ตอนที่แล้วนอกเรื่องไปเสนอข่าวด่วนเกี่ยวกับแพะแกะนำเข้าชุดที่สวยที่สุดเท่าที่เคยเห็นมา ฉบับนิ้เราจะกลับมาเข้าเรื่องราวเกี่ยวกับสัตว์วงศ์ชะมดและอีเห็นกันต่อ สืบเนื่องจากสัตว์ต่างๆที่เลี้ยงในฟาร์มเพื่อเป็นรายได้เสริมการเลี้ยงวัว หรือแม้แต่เลี้ยงเล่นเพื่อความสุขใจก็ตาม ตอนก่อนเราแนะนำให้รู้จักกับผลิตภัณฑ์อันแสนจะแพง คือ ไขชะมดและกาแฟขี้ชะมด(โกปี้ ลูวัค หรือ Civet Coffee)กันไปแล้ว ดังที่ได้เล่าไปแล้วว่า ไขชะมดมาจากตัวชะมด และกาแฟขี้ชะมดมาจากตัวอีเห็น ส่วนรายละเอียดนั้นท่านสามารถย้อนกลับไปอ่านในฉบับเก่าได้ว่าเพราะอะไรถึงเรียกกันแบบนั้น
กลับมาสู่คุณค่าของไขชะมดกันก่อน ไขเหนียว สีน้ำตาลอ่อน กลิ่นหอมฉุนแรง ข้อมูลไขชะมดเช็ดจากเวบไซต์ของ สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (สพภ. - BEDO)
- ไขของชะมดเช็ด(Wax)ในการผลิตยาแผนโบราณ
ใช้ประโยชน์อย่างมากทางการใช้กลิ่นหอม โดยในตาราการแพทย์แผนไทยมีการระบุถึงสรรพคุณว่าใช้แก้โลหิตพิการ ขับผายลม แก้หืด ไอ วิงเวียนศีรษะ
ยาสามัญประจาบ้านแผนโบราณ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข มี 4 รายการที่ใช้ชะมดเช็ดเป็นตัวยาที่สาคัญในตำรับ ได้แก่ 1. ยาหอมเทพจิตร 2. ยาหอมทิพโอสถ 3. ยาหอมอินทจักร์ 4. ยาหอมนวโกฏ
- ไขของชะมดเช็ดในการผลิตน้ำหอม
ใช้เป็นส่วนผสมของน้ำหอมเพื่อช่วยให้กลิ่นหอมติดทนนาน และดูดกลิ่นลึกลับขึ้น นอกจากนี้ยังใช้เป็นตัวทาให้น้ำหอมอยู่คงนาน ซึ่งมีผลิตภัณฑ์น้ำหอมหลายยี้ห้อที่ใช้ไขของชะมดเป็นส่วนผสม
นอกจากนี้ทางสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (สพภ. - BEDO) ยังให้เหตุผลในการสนับสนุนการเพาะเลี้ยงด้วยว่า
ชะมดเช็ด (Small Indian Civet)
เป็นสัตว์ป่าที่มีศักยภาพทางธุรกิจที่ให้ทั้งผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงเป็นที่ต้องการของตลาดสูงทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ เป็นที่ต้องการของทั้งตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) พิจารณาแล้ว เห็นว่าธุรกิจการเพาะเลี้ยงชะมดมีศักยภาพสูง หากได้รับการส่งเสริมสนับสนุนอย่างจริงจังต่อเนื่อง จะสามารถเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการได้ เพื่อพัฒนาผู้เพาะเลี้ยงชะมดเช็ดของไทยให้มีประสิทธิภาพ และลดการล่าจับชะมดเช็ดจากธรรมชาตินำไปสู่การอนุรักษ์การใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน
กลับมาสู่โลกแห่งความเป็นจริงกันบ้าง
หลังจากที่ผู้เขียนได้เข้าไปคลุกคลีกับการผลักดันอย่างเต็มที่ของ สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (สพภ. - BEDO) ที่พยายามอย่างที่สุดเพื่อให้สัตว์ป่าคุ้มครองตัวนี้เป็นสัตว์เศรษฐกิจได้เต็มตัว เช่นเดียวกับกวางม้าและไก่ฟ้า ทั้งที่ชะมดเช็ดก็มีอยู่ในรายการสัตว์ป่าคุ้มครองชนิดที่อนุญาตให้เพาะเลี้ยงเพื่อการค้าได้ แต่ว่ากันตามจริงแล้ว จากการเริ่มต้นสัมมนาของ สพภ เมื่อปี พ.ศ. 2554 มาจนถึงวันที่ผู้เขียนเขียนบทความนี้ ก็จวนจะ 2ปีครึ่งอยู่แล้ว ยังติดปัญหาใหญ่เรื่องเดียวก็คือพ่อแม่พันธุ์ที่ถูกต้องตามกฏหมายนั่นเอง
ขยายความตรงนี้สักนิด เพราะผู้อ่านบางท่านอาจจะงงว่า ก็เห็นฟาร์มเลี้ยงชะมดเช็ดอยู่มากมายที่เพชรบุรี เช่นรายที่ดังมากเพราะออกรายการโทรทัศน์ก็มีอยู่เกือบ200ตัว แล้วจะมาบอกว่าติดปัญหาพ่อแม่พันธุ์ได้อย่างไรกัน อันที่จริงแล้วฟาร์มผลิตไขชะมดทั้งหลายนั้น ทำการเก็บไขชะมดจากชะมดเช็ดที่ดักมาจากป่ากันมาเนินนานแล้ว ต่อเมื่อมีพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ออกมาและเปิดให้แจ้งครอบครอง (พูดให้ฟังง่ายๆก็คือ ยกโทษไม่เอาผิดนั่นแล แต่ให้มาแจ้งจำนวนครอบครองไว้) ฟาร์มเหล่านี้จึงมีสิทธิ์ครอบครองได้ตามจำนวนที่แจ้งไว้ แต่... มีสิทธิ์ครอบครองไม่ได้มีสิทธิ์เพาะพันธุ์ จึงต้องขออนุญาตเพาะพันธุ์เสียก่อน
มาดูขั้นตอนการขอเพาะเลี้ยงแบบถูกต้องตามกฎหมายกันก่อน ชะมดเช็ดหรือสัตว์ป่าคุ้มครองทั้งหลายที่มีอยู่ในรายการที่อนุญาตให้เพาะเลี้ยงเพื่อการค้าได้นั้น ต้องมาทำการยื่นขออนุญาตเพาะพันธุ์สัตว์ป่า ซึ่งก็จะมีขั้นตอนต่างๆนาๆรวมถึงต้องทำกรงเพาะเลี้ยงที่เหมาะสมและให้เจ้าหน้าที่จากกรมป่าไม้มาตรวจสอบ สรุปว่ามีหลายขั้นตอนในการขอเพาะเลี้ยง จากนั้นก็รอขอซื้อพ่อแม่พันธุ์ที่ถูกต้องตามกฎหมายจากกรมป่าไม้ เท่านี้ยังไม่จบ ถ้าหากว่าเพาะพันธุ์ได้ก็ต้องไปแจ้งขออนุญาตจำหน่ายอีก แค่ทำกรงเพาะเลี้ยง ยื่นขอเพาะเลี้ยงตามระเบียบขั้นตอน ก็ยุ่งยากแทบจะถอดใจแล้ว แต่ทว่าปัญหาใหญ่ที่สุดก็คือไม่มีพ่อแม่พันธุ์ที่ถูกต้องตามกฎหมายมาให้ผู้ขอเพาะเลี้ยงได้ใช้ทำพ่อแม่พันธุ์กันนั่นเอง เมื่อไม่มีให้ถึงสร้างฟาร์มและขออนุญาตไว้ก็ไม่ได้เริ่มอยู่ดี
บางท่านก็อาจจะสงสัยต่อว่า แล้วฟาร์มแถวเขาย้อยเพชรบุรีล่ะ มีชะมดเช็ดเยอะแยะไง ถ้าพวกชะมดเช็ดเหล่านั้นครอบครองได้โดยถูกกฎหมาย ก็ให้เขามายื่นเพาะเลี้ยงกันซะ แล้วจะยังติดปัญหาอะไรกันอีก ก็คงต้องบอกว่าคำตอบง่ายๆก็คือชาวบ้านไม่ค่อยอยากจะเป็นผู้เพาะเลี้ยง เพราะเขาไม่เห็นประโยชน์ มีแต่เห็นรายจ่ายของกรงเพาะเลี้ยงขนาดใหญ่และขั้นตอนการยื่นเรื่องกับหน่วยงานราชการที่แสนจะยุ่งยากนั่นเอง อธิบายอีกนิดว่า กรงเลี้ยงชะมดเช็ดเพื่อเอาไขนั้นเขาเลี้ยงด้วยกรงไม้ไผ่ขนาดราวๆ1เมตรx1เมตร วางเรียงกันในโรงเรือนเหมือนกับกรงตับไก่ไข่ แน่นอนกรงแบบนี้ไม่เหมาะกับการเพาะเลี้ยงแน่ จึงต้องสร้างกรงขนาดใหญ่ที่ต้องลงทุนเงินมากเพื่อให้มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการขยายพันธุ์ ฟาร์มเหล่านั้นจึงไม่อยากลงทุนเพิ่ม
กรงเลี้ยงเก็บไขขนาดมาตรฐานเล็กและคับแคบเกินกว่าที่จะใช้เพาะพันธุ์
อ่านถึงตรงนี้แล้วไม่ทราบว่ามีใครเฉลียวใจสงสัยกันหรือไม่ว่า ชะมดเช็ดที่ยื่นขอครอบครองกันมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 นั้น ไม่ไม่ป่วยตาย ไม่แก่ตายกันบ้างหรือไร ฟาร์มนั้นแจ้งครอบครองไว้ 200ตัว หรือฟาร์มนี้ 80ตัว มันก็มีอยู่เท่านั้นตลอดมา เหตุผลก็คือ ชะมดเช็ดที่ถูกลักลอบจับจากราวป่าอย่างผิดกฎหมายนั้นยังพอหาได้ง่าย และสนนราคาก็ไม่กี่พันบาท (1500-3000บาท หรืออาจจะไม่มีต้นทุนเลยถ้าลักลอบดักจับเอง) เอามาขังไว้เก็บไขชะมด ป่วยหรือตายก็กินหรือทิ้งแล้วหามาสวมสิทธิ์ใหม่ หรือถ้าลองแกล้งโทรไปถามหาซื้อ บางฟาร์มก็อาจจะมีลักลอบขายให้ในราคาตัวละ 5000บาท แต่เป็นการซื้อขายชะมดเช็ดที่ผิดกฎหมาย เป็นแบบนี้กันจริงหรือเปล่าอันนี้ต้องลองไปค้นหาความจริงกันดู
และเนื่องจากเป็นชะมดที่ดักจับมาจากป่าจึงไม่เชื่อง เมื่อมีคนเข้าไปเยี่ยมฟาร์มจึงต้องดูอยู่ห่างๆบริเวณรอบนอก เพราะถ้าชะมดเช็ดเหล่านี้ตกใจก็จะเครียดและไม่เช็ดไขไป2-3วันเลยทีเดียว นั่นหมายถึงผลผลิตและรายได้ที่ลดลง ผู้เขียนเองเคยเห็นชะมดเช็ดที่ถูกเพาะเลี้ยงให้เชื่อง เจ้าพวกนี้ไม่กลัวคนและเช็ดไขชะมดแบบไม่อายกล้องเลยแม้แต่น้อย ดังนั้น ในแง่มุมมองของนักปรับปรุงพันธุ์สัตว์เศรษฐกิจของผู้เขียน จึงมองว่า จะเป็นการดีหรือไม่ถ้าเราได้มีการเพาะเลี้ยงกันอย่างจริงจัง เพื่อให้ได้ชะมดเช็ดที่เชื่องกว่า คุ้นคนกว่า และให้ผลผลิตได้ตลอดโดยไม่ตกใจแล้วผลผลิตลดหาย หรือแม้กระทั่งสามารถคัดสายพันธุ์ที่ให้ผลผลิตมากกว่าและมีคุณภาพดีกว่าในอนาคต
เป็นที่น่ายินดีที่ปัจจุบัน มีบางฟาร์มที่เขาย้อย เช่น “ขาวสะอาดฟาร์ม” ได้เริ่มลงทุนทำกรงเพาะเลี้ยงและขออนุญาตเป็นผู้เพาะเลี้ยงแล้ว ขั้นตอนต่อไปเมื่อได้ลูกก็คงต้องยื่นขอเป็นผู้จำหน่าย และคงได้ขยายออกมาสู่ผู้ที่ยื่นขอเพาะเลี้ยงที่นั่งตาละห้อยรอพ่อแม่พันธุ์ที่ถูกต้องตามกฎหมาย ที่รอเล่าเฝ้ารอจากรมป่าไม้มาสองปีกว่า และหวังว่าในอีกไม่กี่ปีเราจะสามารถผ่าทางตันของการเพาะเลี้ยงชะมดเช็ดกันได้เสียที
ขาวสะอาดฟาร์ม เตรียมเพาะพันธุ์ชะมด ตัวอย่างกรงเพาะพันธุ์ที่ศูนย์ห้วยทราย
อุปการณ์ให้อาหารและน้ำ เสาไม้สำหรับชะมดไว้เช็ดไข
หญ้าตีนนก อาหารเสริมที่ชะมดชอบ