Search Category / ค้นหา
Horse Gaits = การเคลื่อนไหวของม้า

มีอยู่ด้วยกัน 4 จังหวะคือ เดิน วิ่งเรียบ โขยก ฮ่อ ตามลำดับ
Horse Gaits = การเคลื่อนไหวของม้า
เอกชัย บุญจันทร์
เรื่องม้าหางหาย เอ้ย!!! ห่างหายไปนานเลย จริงๆทำเสร็จนานแล้วล่ะครับ แต่ขาดภาพเคลื่อนไหวประกอบอย่างเดียว
ทริปนี้เรามาเรียนรู้เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของม้าว่ามีกี่จังหวะ แล้วเท้าทั้งสี่ทำงานเข้าขากันอย่างไรบ้าง ไปกันเลยครับผม
การเคลื่อนไหวของม้าจะมีอยู่ด้วยกัน 4 จังหวะคือ เดิน วิ่งเรียบ โขยก ฮ่อ ตามลำดับ บางสายพันธุ์อาจมีการเคลื่อนไหว 5, 6 หรือ 7 จังหวะตามลำดับ ซึ่งขึ้นอยู่กับการฝึกฝนหรือธรรมชาติของม้าพันธุ์นั้นๆ การเคลื่อนไหวในแต่ละจังหวะนั้น จะมีรายละเอียดปลีกย่อยในการขี่อย่างละนิดอย่างละหน่อย หลักสำคัญเลยคือ การถ่ายน้ำหนักตัวบนหลังม้าให้สมดุล การวางมือ ก้น เท้า และการออกคำสั่งในการเปลี่ยนจังหวะให้ถูกต้องเหมาะสมเท่านั้นเอง เรามาเริ่มต้นเรียนรู้และทำความเข้าใจขั้นพื้นฐานกันเลยครับ ยี้รรรรร ฮ่าาาาาา
1. เดิน
เป็นทักษะขั้นพื้นฐานที่ง่ายที่สุดในการขี่ม้า แต่ถึงกระนั้นการเดินก็เป็นการขี่ที่สำคัญที่สุดในบรรดาการฝึกทั้ง 4 จังหวะ เพราะถ้าเราฝึกจนเข้าขากับม้าได้ดีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแล้ว ก็จะทำให้การฝึกในขั้นต่อๆไปง่ายขึ้นตาม ซึ่งการเดินจะมีการเคลื่อนที่อยู่ด้วยกัน 4 จังหวะ โดยแต่ละจังหวะจะมีเท้าหลักที่วางอยู่ที่พื้นเพียง 3 ข้างเท่านั้น ดังนี้
(จังหวะที่ 1) – ขาหลังขวา
(จังหวะที่ 2) – ขาหน้าขวา
(จังหวะที่ 3) – ขาหลังซ้าย
(จังหวะที่ 4) – ขาหน้าซ้าย
เริ่มต้นโดยการยื่นมือไปข้างหน้าเล็กน้อยแล้วค่อยๆผ่อนสายบังเหียนและใช้ขาทั้งสองข้างกดแนบไปที่บริเวณลำตัวม้าเบาๆ แต่ถ้าทำแล้วม้าไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ให้เราออกเสียงคำสั่งหน้าเดินโดยใช้เสียงทุ้มและลากยาว หรือใช้วิธีกระดกลิ้น พร้อมกับใช้ส้นเท้าทั้งสองข้างอัดไปที่สีข้างของม้าเพื่อส่งให้ม้าเดินอีกครั้ง โดยควรทำซ้ำๆบ่อยๆ เพื่อเป็นการกระตุ้นและทบทวนความจำให้แก่ม้า
2. วิ่งเรียบ
เป็นการเคลื่อนไหวแบบเดินเร็วลักษณะกระเด้งขา 2 จังหวะ ซึ่งลักษณะการเคลื่อนไหวจะขึ้นอยู่กับจังหวะท่าทางของม้าแต่ละตัวแตกต่างกันไป โดยการยกขาของม้าจะเป็นแบบเส้นทแยงมุมสลับกัน ซึ่งช่วงรอยต่อของการยกขาเปลี่ยนจังหวะนั้น ขาทั้งสี่ข้างจะลอยอยู่เหนือพื้นและผู้ขี่จะต้องยกก้นตามจังหวะการยกขาของม้าตลอดเวลา คือ ให้มองขาหน้าข้างใดข้างหนึ่งเป็นขาหลัก โดยส่วนมากถ้าฝึกในสนามวงกลมจะให้ยึดขาด้านในเป็นหลัก เช่น ถ้าขาด้านในเป็นขาซ้าย เมื่อขาหน้าซ้ายยกให้เรายกก้นขึ้น เมื่อขาหน้าซ้ายวางลงให้เราค่อยๆหย่อนก้นลงตามทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ สิ่งสำคัญคือเราจะต้องรู้การวางตำแหน่งส่วนต่างๆของร่างกายและจังหวะการยกก้นให้สัมพันธ์กัน
(จังหวะที่ 1) – ขาหน้าซ้าย / ขาหลังขวา
(จังหวะที่ 2) – ขาหน้าขวา / ขาหลังซ้าย
ยกบังเหียนขึ้นเหนือหัวอานเล็กน้อยเหยียดแขนตรงไปที่หัวอาน และใช้ขาทั้งสองข้างกดแนบไปที่บริเวณลำตัวม้าเบาๆ เพื่อเตือนให้ม้ารู้ตัวว่าเราจะเปลี่ยนจังหวะจากเดินไปเป็นวิ่งเรียบแล้ว จากนั้นให้ออกแรงกดบริเวณลำตัวม้าให้แน่นขึ้น พร้อมกับยื่นมือไปทางด้านหน้าและให้เราไสเอวไปข้างหน้าพร้อมๆกัน เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ม้าเปลี่ยนจังหวะจากเดินเป็นวิ่งเรียบ
3. โขยก
จังหวะโขยกน่าจะเป็นจังหวะที่สนุกที่สุดในบรรดาการขี่ทั้ง 4 จังหวะ เพราะว่าขณะวิ่งม้าจะรู้สึกนิ่มนวลเหมือนเรานั่งเก้าอี้ม้าโยกไปมา ม้าจะก้าวยาวๆทำให้เรารู้สึกเหมือนบินได้ ซึ่งประกอบด้วยการเคลื่อนที่ต่อเนื่องกัน 3 จังหวะ โดยขณะที่โขยกนั้นบั้นท้ายจะต้องอยู่ติดอานตลอดเวลา
จังหวะโขยกจะเริ่มต้นจากการโยนของขาหลังข้างใดข้างหนึ่งขึ้นมาด้านหน้าก่อนเสมอ โดยก่อนที่จะเริ่มเข้าสู่จังหวะโขยกนั้น เราต้องแน่ใจก่อนว่าสามารถทรงตัวและควบคุมจังหวะในการวิ่งเรียบได้เป็นอย่างดีแล้ว
จังหวะที่ใช้ขาหลังซ้ายนำ :
(จังหวะที่ 1) – ขาหลังซ้าย
(จังหวะที่ 2) – ขาหลังขวา / ขาหน้าซ้าย
(จังหวะที่ 3) – ขาหน้าขวา
จังหวะที่ใช้ขาหลังขวานำ :
(จังหวะที่ 1) – ขาหลังขวา
(จังหวะที่ 2) – ขาหลังซ้าย / ขาหน้าขวา
(จังหวะที่ 3) – ขาหน้าซ้าย
จากจังหวะเดินให้เราไล่เก็บสายบังเหียนให้ตึงแนบลำคอม้าพอดีๆ เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมออกตัว อัดส้นเท้าไปที่ลำตัวม้าพร้อมถ่ายน้ำหนักของขาไปทางด้านหลังเล็กน้อย จากนั้นให้ดึงขากลับมาแนบลำตัวม้าโดยวางขาและเท้าไว้บริเวณสายรัดทึบพร้อมกับค่อยๆเอนตัวถ่ายน้ำหนักไปทางด้านหลังเล็กน้อย ถ้าหากม้าของเราให้ความร่วมมือที่ดีในการฝึกเขาจะมีการตอบรับด้วยการเดินที่นิ่มนวลกลับมา
จากจังหวะวิ่งเรียบให้เรานั่งในจังหวะก่อนนี้คือ ก้นจะต้องกระเด้งขึ้น-ลงตามจังหวะการก้าวของม้าอยู่ตลอดเวลาโดยให้ก้าวยาวๆซักเล็กน้อย จากนั้นให้กระตุกบังเหียนเพื่อเป็นการส่งสัญญาณไปที่หัวม้า ตบส้นเท้าออกคำสั่งโขยก บีบขาและเท้าแนบสายรัดทึบให้แน่นพร้อมกับถ่ายน้ำหนักเอนหลังไปทางด้านหลัง ไสเอวไปทางด้านหน้าตลอดเวลาที่โขยก เพื่อเป็นการรักษาสมดุบนหลังม้าและให้ม้ารับรู้ว่าเรายังต้องการโขยกอยู่ในระดับความเร็วที่ต้องการ
4. ควบ หรือ ฮ่อ
เป็นจังหวะขั้นสุดท้ายและเป็นการใช้ความเร็วขั้นสูงสุดของม้า ซึ่งประกอบด้วยจังหวะการเคลื่อนที่ต่อเนื่องติดต่อกัน 4 ครั้ง
การเคลื่อนไหวจะคล้ายคลึงกับจังหวะโขยกแต่จะเร็วกว่าและต่างกันตรงที่จังหวะควบนั้นขาทั้งสี่จะยกไปพร้อมกันในครั้งเดียว(การวิ่งเหมือนเสือชีต้า) และในขณะที่อยู่ในจังหวะควบนั้นให้ยกก้นลอยขึ้นเหนืออานเล็กน้อยแล้วทิ้งน้ำหนักลงไปที่ส้นเท้าทั้งสองข้าง
จังหวะที่ใช้ขาหลังซ้ายนำ :
(จังหวะที่ 1) – ขาหลังซ้าย
(จังหวะที่ 2) – ขาหลังขวา
(จังหวะที่ 3) – ขาหน้าซ้าย
(จังหวะที่ 4) – ขาหน้าขวา
จังหวะที่ใช้ขาหลังขวานำ :
(จังหวะที่ 1) – ขาหลังขวา
(จังหวะที่ 2) – ขาหลังซ้าย
(จังหวะที่ 3) – ขาหน้าขวา
(จังหวะที่ 4) – ขาหน้าซ้าย
เริ่มโดยกระตุ้นม้าให้เข้าสู่จังหวะควบแบบเดียวกับที่ใช้กับจังหวะโขยก แต่ระวังอย่าปล่อยให้ตัวเราเอียงไปทางด้านหลังมากเกินไปเพราะจะทำให้หล่นลงมาได้ ร่างกายทุกส่วนควรโน้มมาทางด้านหน้าเล็กน้อย โดยมือกุมบังเหียนให้แน่นและขาก็กดแนบชิดลำตัวของม้าให้มั่นคงเพื่อป้องกันการหลุดจากหลังม้า ซึ่งระดับความเร็วที่เราต้องการนั้นจะขึ้นอยู่กับการบังคับจากบังเหียนไปสู่หัวม้าและการอัดส้นเท้าพร้อมออกคำสั่งครับผม
ปล.ผิดพลาดประการต้องขออภัย มา ณ ที่นี้นะครับ