Search Category / ค้นหา
Udomsuk Farm
อุดมสุขฟาร์ม
ประวัติอุดมสุขฟาร์ม
อุดมสุขฟาร์มเกิดขึ้นจากที่ดินเดิมเป็นเหมืองแร่ร้าง ผ่านการทำเหมืองดีบุก หลังจากแร่หมดแล้วก็ปล่อยทิ้งว่างไม่ได้ทำประโยชน์ ลักษณะเป็นหินทราย หน้าดินถูกขุดไปล้างเอาแร่หมดแล้ว เป็นที่ที่ไม่มีใครอยากได้ เพราะแห้งแล้ง อยู่ไกลมีแต่หินทรายมีดินเป็นส่วนน้อย จะทำประโยชน์เพาะปลูกหรือทำอย่างอื่นก็ต้องลงทุนสูงและใช้เวลานานมากกว่าจะฟื้นฟูได้ดี ที่จึงเหลืออยู่ไม่มีคนมาทำกิน
ขณะนั้นเราทำงานโรงเลื่อยมีอาชีพหลักอยู่แล้ว แต่ด้วยความชอบและรักต้นไม้ เพราะมีความรู้สึกว่าต้นไม้เป็นสิ่งที่อยู่ด้วยแล้วมีความสุข เป็นสิ่งมหัศจรรย์ ทุกๆส่วนสามารถเอาไปทำประโยชน์ได้ ถ้าเข้าใจในต้นไม้แต่ละชนิด และยังมีส่วนสำคัญทำให้สิ่งแวดล้อมร่มเย็น ฝนฟ้าตกตามฤดูกาล สุขภาพแข็งแรง ผู้ที่อาศัยอยู่ แข็งแรง เป็นธรรมชาติ ชีวิตเรียบง่าย ตัวเราเองชอบต้นไม้อยู่แล้ว จึงคิดจะปลูกต้นไม้ เพื่อเป็นรายได้ที่ยั่งยืนในระยะยาว แถมยังอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ทำให้ชีวิตเราพบกับสิ่งที่เรารักและชอบที่ทำ แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่จะต้องเหน็ดเหนื่อย ทุ่มเท ท้าทาย ขยัน อดทนต่อความยากลำบาก ใช้เวลาที่ยาวนานมาก เพราะไม่มีความเขียวของต้นไม้เลยในขณะที่เราไปบุกเบิกครั้งแรก
ปี 2523 ได้ขึ้นไปดูที่กับน้าและลูกสาวคนโตอายุ 3 ขวบ อยู่จนเย็น ความที่หญ้าแห้ง รกมาก น้าพาหลงกลับไม่ถูก ลูกก็ร้องไห้บอกว่า ไม่อยากอยู่ป่าแล้วจะกลับบ้าน ปัจจุบันน้าคนนั้นเสียแล้ว ลูกสาวอายุ 34 ปี ครั้งแรก ที่บุกเบิกก็ปลูกสนปฎิพัท จำนวน 7,000 ต้น
ปี 2524 ต่อมาได้คุยกับอาที่เป็นป่าไม้ บอกว่าเหมืองร้าง น่าจะปลูกเม็ดมะม่วงหิมพานต์ เพราะทางใต้ที่ทำเหมืองแร่ร้างแล้วจะปลูกกัน ก็เริ่มปลูกมะม่วงหิมพานต์ในปี 2526 จำนวน 7,000 ต้น ที่ทราบปี พ.ศ. จำนวนต้น เพราะจดไว้ตลอด เราเป็นคนชอบจดบันทึก เลยโชคดีมีข้อมูลย้อนหลังให้รู้พอสมควร ชีวิตการทำไร่ทำสวนกับพื้นที่แห้งแล้งมีหินกรวดทรายเป็นหลัก ไม่ใช่ทำได้ง่ายๆ เพราะกำหนดอนาคตไม่ได้เลย ตอนที่ปลูกต้นไม้ครั้งแรก ไม่ได้คิดว่าอีกกี่ปีจะโตเท่าไหร่ ได้ผลขนาดไหน แต่ต้องคิดว่าต้นไม้จะรอดไหม แค่นั้นเอง เพราะถึงรอดต้นก็จะแกร็นๆ ระยะเวลา 7 ปี ปลูกสนปฎิพัท 306,780 ต้น รอด 43,652 ต้น รอด 14 % ปลูกตั้งแต่ปี 2524-2531 ปี
2526 ปลูกมะม่วงหิมพานต์ จำนวน 108,955 ต้น รอด 13% เป็นพันธุ์พิเศษจากระนอง 1 กิโลกรัม มี 120 เม็ด ปลูกปี 2526-2533 ทั้งๆ ที่เลือกต้นไม้ทนแล้ว และปรึกษาผู้มีความรู้แล้ว ก็ยังไม่สำเร็จ คนที่อยู่แถวไร่และคนในครอบครัวก็คงคิดว่า เราถอยไม่สู้แล้ว แต่เราไม่ใช่คนถอยง่ายๆ เพราะที่บอกแล้ว รักต้นไม้ ก็ปลูกมะพร้าวน้ำหอมและมะม่วงเขียวเสวย มะม่วงแก้ว มะม่วงอกร่อง มะม่วงหัวช้าง มะม่วงฟ้าลั่น เจ้าคุณทิพย์ มะขามเปรี้ยว ขี้เหล็ก สะเดา ยังชอบเม็ดมะม่วงหิมพานต์ปลูกซ่อมไปเรื่อยๆ เอาต้นมะม่วงหิมพานต์ที่ขึ้นเขียวสูง 50 ชม. แล้วแห้งตายเป็นสีน้ำตาล ไปให้พัฒนาที่ดินจังหวัดดู ท่านมาดูให้ถึงไร่ ทราบชื่อว่าท่าน สมบูรณ์ ปัจจุบันเกษียณแล้ว เป็นคนน่ารักมาก ท่านพูดไว้ให้สังเกตหญ้าขนที่นี่งามหน้าแล้ง อย่าไปเสียเวลากับไม้ยืนต้น เพราะดินที่นี่เป็นที่ที่แย่ที่สุดในจังหวัดประจวบฯ ให้ทำปศุสัตว์เลี้ยงวัว เพราะรากหญ้าตื้น ที่สูงๆ ต่ำๆ ปลอดโรค แต่เราไม่เชื่อ ขุดดินจาก 4 ทิศ ไปให้รุ่นน้องที่มหาวิทยาลัยสงขลาวิเคราะห์ น้องบอกว่า ต้องเสียค่าใช้จ่ายประมาณ เดือนละ 100,000 บาท เพื่อปรับดิน เราเลยยอมแพ้
ปี 2532 จึงเริ่มเลี้ยงวัว เมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2532 จำนวน 10 ตัว เป็นพันธุ์อเมริกันบราห์มันพันธุ์แท้จากกรมปศุสัตว์ และสมัครเป็นฟาร์มเครือข่ายของกรมปศุสัตว์ เพื่อว่าในอนาคตเราจะได้สามารถพัฒนาได้ง่ายขึ้น มีเอกสารหลักฐานชัดเจน ข้อมูลสามารถจดบันทึกได้สะดวก ค้นหาง่าย ตรวจสอบความถูกต้องได้ วัวโชคดีเพราะมีร่มเงาของมะม่วงหิมพานต์ที่ปลูกไว้และรอดบางส่วน เดือน มี.ค. – พ.ค.มะม่วงหิมพานต์ออกลูก วัวก็จะกินเนื้อชมพู่และคายเมล็ดออก ในหน้าร้อนเย็นชื่นใจ เมล็ดแข็งก็มีคนมารับซื้อ เมื่อเริ่มเลี้ยงวัว เม็ดมะม่วงหิมพานต์ได้ผลบ้าง สนปฎิพัทโตตัดขายได้ ก็เริ่มมีรายได้บ้าง แต่ไม่มาก เพราะต้องจ่ายเงินเดือน ค่ารถ ค่าน้ำมัน และพัฒนาพื้นที่อีกมากมาย การเลี้ยงวัวก็ใช้วิธี พ่อ 1 ตัว คุมฝูงแม่หลายๆ ตัว
ปี 2533 อาจารย์พัน มาลีวรรณ อาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งท่านชำนาญด้านเม็ดมะม่วง หิมพานต์ทำงานให้บริษัทมาบุญครอง ท่านเป็นคนที่ใจดีมากพาไปดูงานที่จังหวัดปราจีนบุรี เขาทำเตาอบเม็ดมะม่วงหิมพานต์ จากการปลูก 200 ไร่ มีรายได้ดี แต่ปรากฎว่าของเราผลผลิตไม่ได้เนื่องจากปัญหาด้านดินไม่ดี ปรับปรุงยังไม่ได้ผล ได้ไปติดต่อซื้อเครื่องกระเทาะเม็ดที่จังหวัดระนอง เขาให้ฟรี 9 เครื่องให้คนมาสอน แต่ไม่สำเร็จอีก เพราะคนบ้านเราทำไม่ไหวยางเม็ดมะม่วงหิมพานต์กัดมือเป็นแผลพองก็เลิกอีก ต่อมาก็อาศัยมูลโค อึ ฉี่ ลงบนที่ดิน พอจะปลูกได้บ้าง ก็ปลูกเม็ดมะม่วงหิมพานต์เหมือนเดิม มีอยู่แปลงหนึ่งซ่อม 7 ครั้ง จำนวน 17,000 ต้น จนเรียกว่า แปลง 17,000 ใช้เวลา 7 ปีในการซ่อม และไม่สำเร็จ ดินแข็ง แห้งหน้าแล้ง น้ำไม่ซึมในหน้าฝน ยอมแพ้เหมือนเดิม จึงเอาเท่าที่รอด เก็บขายโดยใช้แรงงานชาวบ้านมีทั้งคนแก่ๆ ผู้ใหญ่และเด็กๆ โดยเฉพาะช่วงเดือน มี.ค. – เม.ย. ช่วงปิดเทอม เด็กๆ ก็มีรายได้เป็นค่าหนังสือ เสื้อผ้า ค่าขนม ต่อมาผลผลิตลดลงเรื่อยๆ และเริ่มแห้งตาย คงไปเจอชั้นหิน
วัวจึงเป็นทางเลือกสุดท้าย เริ่มมีการพัฒนาอย่างจริงจังจากเดิม เลี้ยงได้ประมาณ 10 ปี ก็รู้สึกสับสน เพราะยังเป็นรายได้หลักไม่ได้ จะตัดสินใจเลี้ยงเป็นพันธุ์แท้สำหรับ เป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์หรือเลี้ยงชั่ง เพราะตลาดวัวพันธุ์แท้อยู่ทางเหนือ อีสาน ภาคกลาง ซึ่งไกล แต่ตลาดบ้านเราเป็นวัวชั่ง ขายได้ดีกว่า แต่พ่อขอไว้และเราก็ไม่อยากขายชั่งด้วย ก็ไปหาเพื่อนที่กรมปศุสัตว์เพื่อปรึกษา เพื่อนแนะนำให้ไปคุยกับน้องคนหนึ่ง เขาบอกว่า “พี่เลี้ยงวัวให้วัวเลี้ยงพี่ไม่ใช่พี่เลี้ยงวัว” เม็ดมะม่วงพี่เป็นอย่างไรบ้าง ก็สงสัยเอ๊ะ เขารู้ได้อย่างไร เราไม่รู้จักเลย ตอนหลังคุยกัน 4 ชั่วโมง เขาแนะนำการทำคอก การเลี้ยงดู การแบ่งแปลงหญ้า เราก็กลับมาทำตามทุกอย่าง ปรากฏว่าเขาชื่อ เอก วิทูรพงศ์ เด็กที่ฟาร์มบอกว่า เขาแอบมาดูหลายครั้งแล้ว แต่ไม่เคยเจอกัน เขาว่าเราเป็นเด็กดีของกรม วัวเรามีความสุขที่สุดในโลก
วันที่ 30 เม.ย. 2549 ฟาร์มก็ได้แจ้งเกิด ท่านระพีพงศ์ วงศ์ดี อดีตท่านอธิบดีกรมปศุสัตว์ ท่านศักดิ์ชัย ศรีบุญซื่อ ผู้อำนวยการสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ ท่านอยุทธ์ หรินทรานนท์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ คุณสุริยา กิจสำเร็จ เจ้าของเอสเคพัทยาแรนซ์ ฟาร์มวัวดังที่สุดในประเทศ ได้มาช่วยคัดวัว แนะนำทุกอย่าง ตั้งแต่ 06.00-18.00 น. ตากแดดกันโดยไม่รู้สึกร้อนเลย เป็นความประทับใจที่ไม่เคยลืมไปตลอดชีวิต ทำให้เรามีกำลังใจ มีความคิดที่จะเดินไปทางไหนแน่ มีเป้าหมายชีวิต ที่สำคัญมีความสุขมาก
ในปี 2550 ก็ได้ทำ ET (Embryo Transfer) จำนวน 50 ตัว เราก็รู้จักการแก้ไขจุดแข็ง จุดด้อยของวัวได้ดี ทำให้มีกำลังใจมากมาย วัวก็เริ่มสวยขึ้น ได้ใบรับรองพันธุ์ประวัติจากกรมปศุสัตว์และเป็นฟาร์มปลอดโรค ขายวัวให้ชาวบ้านราคายุติธรรม ช่วยให้ชาวบ้านได้เลี้ยงวัวพันธุ์ดี กินหญ้าเป็นหลัก วัวแข็งแรง โตเร็วกินเก่ง เชื่อง
ผลที่ตามมาคือ การทำปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยน้ำชีวภาพจากมูลโค ซึ่งเป็นปุ๋ยที่ดีที่สุด เอาไปให้พัฒนาที่ดินวิเคราะห์แล้ว ถ้าเหลือจากการใช้เองก็จะจำหน่ายให้เกษตรกร ราคายุติธรรมเช่นกัน ไม่ต้องไปซื้อปุ๋ยราคาเป็นหมื่นจากที่อื่น ของเราดีพิสูจน์ได้
ต่อมาข้าวราคาแพง จึงเริ่มคิดปลูกข้าวกินกันเองในครอบครัวกับลูกน้องในฟาร์ม ปรากฏว่าปลูก ครั้งแรก 10 ไร่ ได้ผลดี ไร่ละ 900 กก. เมื่อปี 2551 พ่อมาเกี่ยวเป็นคนแรก เมื่อ 4 ต.ค. 51 และได้อวยพรว่า “ขอให้เจริญรุ่งเรืองขยายแต่อย่ากู้” เราก็ทำเพิ่มจาก 10 ไร่ 38 ไร่ 65 ไร่ 80 ไร่ 90 ไร่ โดยได้รับความรู้แนะนำจากกรมการข้าวจังหวัดราชบุรี คุณสุรินทร์ ไตรติลานันท์ เป็นผู้มาถ่ายทอดความรู้ให้ ท่านศักดิ์ชัย ศรีบุญซื่อ เป็นผู้สนับสนุน และได้ยื่นขอเป็นข้าวปลอดสารพิษ และได้ GAP ของกรมการข้าว ซึ่งเป็นสิ่งที่ภูมิใจมาก เลี้ยงเป็นไว้กินหอยเชอรี่ ไข่เป็ดจะแดงและไข่แดงเยอะไข่ขาวใส ปลูกไผ่รวกปราจีนริมคลอง เลี้ยงปลาในคลอง ลูกน้องในไร่ก็ประหยัดค่าใช้จ่าย ในน้ำมีปลาในนามีข้าว เป็นความสุขที่ยั่งยืนจริงๆ เย็นๆ เด็กๆ งมหอยขมได้ แถมปลาด้วย เราทำนาหญ้าแพงโกล่า โดยคุณสุทัศน์ หัวหน้าอาหาสัตว์กุยบุรี ทำให้วัวได้กินหญ้าคุณภาพ ทั้งรูซี่ ถั่วฮามาต้า แพงโกล่า กินนี่สีม่วง วัวจึงโตเร็ว แข็งแรง เชื่อง แม่เลี้ยงลูก ขายเกษตรกรราคายุติธรรม บางคนส่งรูปมาให้ดู บางคนขอบคุณที่ทำให้ครอบครัวเขามีความสุข
นับจากปี 2523-2554 รวมระยะเวลา 30 ปี เราถือว่าได้รับความสำเร็จระดับหนึ่ง ได้ทำงานกับลูกน้อง ที่รู้ใจกันอยู่มาเป็น 10 ปี 20 ปี 30 ปี 40 ปี 50 ปี และคิดว่าจะอยู่จนตายจาก เจ็บป่วยรักษา มีปัญหาช่วยกันแก้ไข เหมือนครอบครัวเดียวกัน รักสามัคคีกัน ช่วยเหลือกันเวลาที่หน้าที่ของตนเองเสร็จแล้ว
ฟาร์มอุดมสุขเป็นบ้านอีกหลังหนึ่งของพวกเขา ชีวิตคนเราเหลือเวลาไม่มากนัก เราได้ใช้ชีวิตตามหลัก 10 ประการตามรอยพระยุคลบาทได้บางส่วนก็ดีใจแล้ว คือ
1. ทำงานอย่างผู้รู้จริงมีผลงานเป็นที่ประจักษ์
2. อดทนมุ่งมั่นยึดธรรมะและความถูกต้อง
3. ความอ่อนน้อมถ่อมตนเรียบง่ายและประหยัด
4. มุ่งประโยชน์คนส่วนใหญ่เป็นหลัก
5. รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น เคารพความคิดที่แตกต่าง
6. มีความตั้งใจจริงขยันหมั่นเพียร
7. มีความสุจริตและความกตัญญู
8. พึ่งพาตนเองส่งเสริมคนดีคนเก่ง
9. รักประชาชน
10. การเอื้อเฟื้อซึ่งกันและกัน
เมื่อ 16 มิ.ย. 54 ท่านศักดิ์ชัย ศรีบุญซื่อ ผู้อำนวยการสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ ดร.ลัดดาวัลย์ กรรณนุช ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าว กรมการข้าว ดร.อัมรา เวียงวีระ นักวิชาการชำนาญพิเศษกรมการข้าว คุณลัดดา วิริยางกูร นักวิชาการชำนาญพิเศษกรมการข้าว คุณสุรินทร์ ไตรติลานันท์ นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษศูนย์วิขัยข้าวราชบุรี ได้มาที่ฟาร์ม ให้ความรู้แก่เราและเกษตรกรอีก 30 คน เพื่อแนะนำให้ทำนาโยน และได้บอกผลดีผลเสียระหว่างนาหว่านและนาโยน เราได้ทดลอง ทำนาโยน 15 ไร่ ปรากฏว่าได้ผลดีมาก ชาวบ้านจะได้เปรียบเทียบ ว่ามีผลชัดเจนอย่างไรบ้าง การทำนาโยนไม่ใช้สารเคมี ประหยัดต้นทุนมาก รายได้เกษตรกรก็จะเพิ่มขึ้น เราได้สีข้าวเอง เพื่อจำหน่ายราคายุติธรรมมีทั้งข้าวกล้องและข้าวขาวให้เลือก
แต่เหนือสิ่งใดสิ่งที่ทำให้เราประสบความสำเร็จเกิดจากใจของเราชอบ ตัวเราอยู่กับพ่อแม่มานาน พ่อแม่มีแต่ให้ ทำให้เรามีจิตใจชอบให้ รักบ้านเกิดของตัวเอง เวลาขายวัวก็จะคิดราคาพิเศษ อยากทำให้คนบ้านเราอยู่ดีกินดี รักกัน เมื่อเรามีใจรักในงาน ก็ทำให้มีความขยันอดทน เพื่อสิ่งที่เรารัก และที่สำคัญต้องมีความซื่อสัตย์ เพราะทำงานทุกอย่าง ถ้ามีความซื่อสัตย์จะเป็นเกราะป้องกันภัยทุกอย่างได้เป็นอย่างดี นึกถึงอกเขา อกเรา มีลูกน้อง เรารักดูแลเขาเหมือนครอบครัว เขาก็จะมีใจให้เราเช่นกัน การทำงานก็จะทำแบบมีความสุข กินด้วยกัน ปรึกษาหารือกัน มีความรักเมตตาให้ พยายามพัฒนาให้งานมีความเจริญก้าวหน้า ค้นหาสิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ ไม่อยู่กับที่ ควบคู่กับเทคโนโลยีสมัยใหม่ ประกอบกับการอยู่เรียบง่ายแต่ยั่งยืนมั่นคง ลูกน้องเราจะได้มีความมั่นใจว่า อยู่กับเราแล้วมีความสุข ปลอดภัย มั่นคง งานของเราก็จะสำเร็จโดยไม่ต้องบีบบังคับ แต่ทุกคนทำด้วยใจ หวงแหนห่วงใยในองค์กร
ปัญหาอุปสรรคมีด้วยกันทุกที่ ไม่ว่าเป็นครอบครัว หน่วยงานต่างๆ ตราบใดที่เรายังอยู่ในสังคม แต่สิ่งเหล่านั้นสามารถแก้ไขได้ด้วยตัวเราและบุคคลที่เราเกี่ยวข้อง พยายามใช้สติสงบเข้าแก้ไข เมื่อทำใจถ้าสงบแล้ว ก็เริ่มคิดถึงสาเหตุของอุปสรรคนั้นระดมความคิดของทุกคนมาพูดคุยด้วยกันว่าแต่ละคนมีความเห็นอย่างไร เสียงส่วนใหญ่เอาแบบไหน ถ้าเรามีหลายหน่วยงานเกี่ยวข้องกันก็เอามาทั้งหมด เช่น ฝ่ายเม็ดมะม่วงหิมพานต์ จะปลูกในแปลงหญ้าของวัว ก็ถามฝ่ายวัวว่าใช้เวลา 2 ปี ปลูกเพื่อให้สูงพ้นวัว มีที่ว่างให้กี่ไร่ หลังจากได้ที่แล้ว โดยวัวไม่สามารถกัดใบกินได้ ก็ปล่อยวัวเข้ากินหญ้าเหมือนเดิม ทยอยปลูกแปลงอื่นๆ ต่อไป ได้ทั้งวัว ได้ทั้งเม็ดมะม่วงหิมพานต์ เพิ่มรายได้ ที่สำคัญต้องทำงานเป็นทีม ไม่มีใครเก่งคนเดียว
การเป็นประธานสภาวัฒนธรรม ก็มีส่วนช่วยเกษตรกรได้ เพราะเราสามารถทำหนังสือไปยังหน่วยงานต่างๆ เพื่อมาสอนให้เกษตรกรของเราได้รับความรู้ ในอาชีพต่างๆ ที่ต้องการ เป็นการรวมชุมชนของเราให้เข้มแข็ง มีงานทำ ตามที่ตัวเองถนัด และใช้ของในพื้นที่ไม่ต้องไปหาที่อื่น ประหยัดต้นทุน ใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า และไม่กระทบสิ่งแวดล้อม และแถมยังช่วยกันรักษาด้วย เป็นอาชีพหลักของครอบครัว ที่สำคัญเวลาอบรมได้เจอกัน พูดคุยสร้างความรักสามัคคี เพราะฉะนั้นทุกอย่าง เราสามารถสร้างได้ด้วยความรักสามัคคีของพวกเราทุกคน มีจิตสำนึกรักบ้านเกิด เพราะบ้านเราอาชีพเกษตรเป็นอาชีพที่สำคัญที่สุด ทั้งมะพร้าว ข้าว วัว แม้เราจะเป็นส่วนเล็กๆ ของสังคม ของประเทศ แต่ก็เป็นส่วนหนึ่งของความยิ่งใหญ่เหมือนกัน
อีกทั้งวัตถุประสงค์ของเราต้องการให้ฟาร์มเป็นที่เรียนรู้ของทุกคน นักศึกษามาฝึกงานทุกปี และเขาจะชอบมาก ทั้งสถานที่ นิสัยของพนักงาน เจ้าของ และสามารถนำความรู้ไปประกอบอาชีพได้ เพราะเราให้เต็มที่ ไม่ปิดบัง ใครมาก็ต้อนรับอย่างอบอุ่นตลอดเวลา
ในอนาคตฟาร์มของเราจะเป็นฟาร์มที่ล้อมรอบด้วยไม้ยืนต้นนานาชนิด เช่นมะฮอกกานี ยางนา ตะเคียนทอง มะค่า มะยมหอม สะเดา ตะไคร้หอม สำหรับสะเดา ตะไคร้หอม จะทำยาป้องกันแมลงที่รบกวนต้นไม้ เช่นข้าว เป็นศูนย์จำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าว วัวอเมริกันบราห์มันพันธุ์แท้ ข้าวสารปลอดสารพิษที่สีเอง มะม่วงหิมพานต์ ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยน้ำชีวภาพ ไข่เป็ดปลอดสารพิษที่เราใช้กินหอยเชอรี่ ราคาเกษตรกร
เราจะเป็นเพื่อนกับเกษตรกรทุกคน ยินดีต้อนรับด้วยความเต็มใจ จะร่วมมือกับทุกคนเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนสำนึกรักบ้านเกิด ปลูกฝังลูกหลานตั้งแต่ยังเด็ก เพื่อประเทศของเราจะได้เจริญก้าวหน้า สงบสุข อยู่อย่างยั่งยืน ร่มเย็น
ติดตามชมกระทู้ Thailivestock พาเที่ยวอุดมสุขฟาร์ม ได้ในลิ้งค์ข้างล่างนี้
ภาพยนตร์ไตรภาคสุดอลังการ "อุดมสุขฟาร์ม" ภาคแรก First Impression
ภาพยนตร์ไตรภาคสุดอลังการ “อุดมสุขฟาร์ม” ภาคสอง Revolution
ภาพยนตร์ไตรภาคสุดอลังการ “อุดมสุขฟาร์ม” ภาคสาม The History of Udomsuk